เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/444
วันที่: 17 มกราคม 2555
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีการคำนวณอากรแสตมป์จากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย : มาตรา 123 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. นาย A ได้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นาง B ในราคา 1,530,000 บาท สำนักงานที่ดินจังหวัดได้เรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ จำนวน 7,650 บาท แต่ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรระบุว่า บุคคลธรรมดาเสียอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาทต่อทุกจำนวนเงิน 200 บาท และเศษของ200 บาทของราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังนั้น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคา 701,520 บาท จึงต้องชำระอากรแสตมป์จำนวน 3,508 บาท การที่สำนักงานที่ดินฯ ได้เรียกเก็บค่าอากรแสตมป์เกินไปจำนวน 4,142 บาท จึงสามารถขอคืนอากรแสตมป์ที่เรียกเก็บเกินไป ตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. นาย A ได้มีหนังสือแจ้งว่า ไม่ประสงค์จะขอคืนค่าอากรแสตมป์ดังกล่าว เนื่องจากสำนักงานที่ดินฯ ได้มีหนังสือชี้แจงให้ทราบว่า อากรแสตมป์คำนวณจากราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มิใช่คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ ตามที่ระบุในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง การเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ดังกล่าวนั้นถูกต้องแล้ว และจากการที่เข้าใจผิดว่า สำนักงานที่ดินฯ เรียกเก็บอากรแสตมป์จากการขายที่ดินเกินไปเนื่องมาจากการศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ ซึ่งระบุว่า"การคำนวณค่าอากรแสตมป์จากการขายอสังหาริมทรัพย์ คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม" จึงขอแนะนำให้กรมสรรพากรดำเนินการแก้ไขข้อมูลบนเว็บไซต์เกี่ยวกับการคำนวณอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย
          จึงหารือว่า การคำนวณอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ในกรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว กรมสรรพากรใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาคำนวณอากรแสตมป์จากใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
แนววินิจฉัย           การเรียกเก็บอากรแสตมป์ ให้เรียกเก็บจากราคาทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ตามมาตรา 123 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/37976

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020