เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6419
วันที่: 8 กันยายน 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมาตรการภาษีจากเงินอุดหนุนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันอุทกภัยของนิคมอุตสาหกรรม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5 (3) 82/3 มาตรา 65 ตรี(5) พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 145 และพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 570 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ มีต้นทุนการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันอุทกภัย จำนวนทั้งสิ้น 480 ล้านบาท มูลค่าต้นทุนดังกล่าวได้รับอนุมัติจากการนิคมอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมูลค่าดังกล่าวบริษัทฯ จะได้รับโดยรับการสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 230 ล้านบาท และรับเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารฯ จำนวน 250 ล้านบาท
          2. ณ วันสิ้นงวดบัญชีวันที่ 31 สิงหาคม 2556 บริษัทฯ ได้จ่ายค่าก่อสร้างเขื่อนไปจำนวนทั้งสิ้น 430 ล้านบาท (ยังค้างจ่าย 50 ล้านบาท) โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเงินกู้จากธนาคารฯ ดังนี้
               2.1 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 187.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.62 ของยอดเงินสนับสนุนจำนวนรวม 230 ล้านบาท ยังคงค้างรับจำนวน 42.30 ล้านบาท (230-187.70 ล้านบาท)
               2.2 ได้รับเป็นเงินกู้จากธนาคารฯ จำนวน 203.90 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.58 ของยอดเงินกู้รวม 250 ล้านบาท ยังคงค้างรับจำนวน 46.10 ล้านบาท (250-203.90 ล้านบาท)
          3. บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
               3.1 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ณ วันสิ้นงวดบัญชีวันที่ 31 สิงหาคม 2556 บริษัทฯ จ่ายค่าก่อสร้างเขื่อนไปจำนวนทั้งสิ้น 430 ล้านบาท แต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 187.70 ล้านบาท บริษัทฯ จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับงวดบัญชีดังกล่าวจำนวน 187.70 ล้านบาท และต้องรับรู้รายได้ทางด้านบัญชีแต่บวกกลับทางด้านภาษีใช่หรือไม่ และบริษัทฯ สามารถหักต้นทุนการสร้างเขื่อนได้เท่ากับเงินสนับสนุนจำนวน 187.70 ล้านบาท สำหรับต้นทุนที่บริษัทฯ จ่ายไปเกินในงวดบัญชีนี้จำนวน 242.30 ล้านบาท (430-187.70 ล้านบาท) บริษัทฯ ยังไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ เนื่องจากการก่อสร้างยังไม่สำเร็จใช่หรือไม่
               3.2 ในงวดบัญชีถัดไป เมื่อบริษัทฯ ได้ก่อสร้างเขื่อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลครบถ้วน บริษัทฯ ต้องนำเงินสนับสนุนส่วนที่เหลือจำนวน 42.30 ล้านบาท มาเป็นรายได้ทางด้านบัญชี และสามารถนำต้นทุนการก่อสร้างเขื่อนมาเป็นรายจ่ายได้จำนวน 42.30 ล้านบาท ใช่หรือไม่
               3.3 สำหรับต้นทุนค่าก่อสร้างเขื่อนที่เกินกว่าเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 250 ล้านบาท (430-230 ล้านบาท) บริษัทฯ สามารถคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 5.0 เป็นเวลา 20 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่เขื่อนสร้างเสร็จใช่หรือไม่
               3.4 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากการสร้างเขื่อนมาเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันอุทกภัย จำนวน 230 ล้านบาท โดย ณ วันสิ้นงวดบัญชีวันที่ 31 สิงหาคม 2556 บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 187.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.62 ของยอดเงินสนับสนุนรวม 230 ล้านบาท ยังคงค้างรับจำนวน 42.30 ล้านบาท (230-187.70 ล้านบาท) และในงวดบัญชีถัดไป บริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนที่เหลือจนครบถ้วน จำนวน 42.30 ล้านบาท ตามข้อเท็จจริง เงินได้เท่าจำนวนเงินที่ได้รับจากรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยอันมีลักษณะถาวรดังกล่าว ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่ได้ทำขึ้นเพื่อป้องกันอุทกภัย วาตภัยอัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอันมีลักษณะถาวร ในส่วนที่เท่ากับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปรวมเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินเพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 570) พ.ศ. 2556 สำหรับต้นทุนค่าก่อสร้างเขื่อนที่เกินกว่าเงินสนับสนุนจากรัฐบาล คือ 250 ล้านบาท(480-230 ล้านบาท) เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ซึ่งต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้นำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยบริษัทฯ มีสิทธิคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินอันมีลักษณะเป็นการถาวรได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 5.0 ของมูลค่าต้นทุนค่าก่อสร้างเขื่อนที่เกินกว่าเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ตามประสงค์
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนตามข้อเท็จจริง เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยเฉพาะ จึงเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้
เลขตู้: 77/39244

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020