คำพิพากษาฎีกาที่3661/2545 | |
บริษัท ฮีโน่มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง อำนาจประเมินของเจ้าพนักงาน รายจ่ายต้องห้าม และการหักกลบลบหนี้ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากรและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ | |
การที่บริษัทโจทก์ขายรถยนต์บรรทุกให้ตัวแทนจำหน่าย ในราคาต่ำกว่าราคามาตรฐานที่บริษัทโจทก์กำหนด ทำให้โจทก์ขายโดยขาดทุนกำไรในยอดขายส่วนนี้ ซึ่งมิใช่เป็นยอดขายหลักของโจทก์ ในเมื่อโจทก์สามารถขายรถยนต์ได้เป็นจำนวนมากโดยมีกำไรอย่างเห็นได้ชัดเจนจึงไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่จะต้องขายในราคาต่ำกว่า และต้องถือว่าราคามาตรฐานของรถยนต์ที่โจทก์กำหนดไว้ในการขายให้ ตัวแทนทั่วไปเป็นราคาตลาด โจทก์จะอ้างว่าขายในราคาต่ำเพื่อให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายมีโอกาสแข่งขันกับบริษัทอื่นในการประกวดราคาขายให้แก่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจในราคาต่ำนั้น ย่อมเป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ขึ้น เพราะโจทก์สามารถขายรถยนต์ได้ในราคาสูงเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ปรากฏว่ามีปัญหา จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดอีก รายจ่ายของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชี ค่าจัดฉลองรางวัลเกียรติยศ ค่ารับรองส่วนราชการและคณะบุคคลต่าง ๆ ค่าของขวัญและดอกไม้วันเกิด ค่าพวงหรีดและช่วยงานศพ ค่าบัตรการกุศล ค่าสมาชิกกอล์ฟ เงินช่วยเหลือพนักงานที่ประสบอัคคีภัย เป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และมีลักษณะเป็นรายจ่ายเป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่าหาเพื่อประโยชน์ในการงานของสังคมของผู้มีอำนาจจ่ายเงิน มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหารายได้ในการดำเนินธุรกิจการค้าของโจทก์โดยตรง จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่อาจนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี โจทก์ชำระภาษีไว้เกินและขอคืนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 เจ้าพนักงานของจำเลย จึงมีหมายเรียกไปถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ เพื่อทำการตรวจสอบไต่สวนสำหรับภาษีรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 และ 2537 ตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไว้โดยปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรมาตรา 19 ซึ่งเมื่อจัดการแล้ว เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจะต้องแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังโจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากร ตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากร มาตรา 20 ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายบัญญัติอีกว่าจะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่าก่อนทำการประเมินและแจ้งไปยังผู้ต้องเสียภาษียังไม่อาจถือได้ว่าเป็นหนี้ภาษีอากรที่แน่นอน เมื่อยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอน จำเลยจึงไม่อาจนำหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยตรวจสอบและทำการประเมินเรียกเก็บเพิ่มจากโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ซึ่งจำเลยไม่ได้แจ้งการประเมินถึงโจทก์ผู้ต้องเสียภาษีไปหักกลบลบหนี้ได้ ทั้งการที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปรับทราบผลการตรวจสอบดังที่จำเลยอ้าง ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกให้ผู้ต้องเสียภาษีทราบ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 20 เพราะอาจกระทบสิทธิของผู้ต้องเสียภาษีในการอุทธรณ์การประเมินได้ |