คำพิพากษาฎีกาที่676/2545 | |
นายสุเทพ จินตนา | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ยกเว้นรัษฎากร (ม.6 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.2542 | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 360)พ.ศ.2542 | |
การยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากรให้แก่ลูกหนี้ และสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดตามมาตรา 76 ของพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.2542 นั้น หมายความถึงการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าต่ำกว่ายอดหนี้เท่านั้น แต่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างโจทก์ กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีแต่ข้อตกลงที่ธนาคารเจ้าหนี้ตกลงปลดหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระและต้นเงินค้างชำระส่วนที่เหลือให้แก่ลูกหนี้ หากลูกหนี้ชำระเงินต้นที่ค้างชำระให้แก่ธนาคารภายในกำหนดเวลา มิได้มีการตกลงให้โจทก์โอนห้องชุดที่จำนองหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่ธนาคาร ดังนั้น เมื่อธนาคารปลดหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับจำนวนเงินที่ค้างชำระและธนาคารปลดหนี้ให้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว แต่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อากรแสตมป์ และ ภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการโอนขายห้องชุดที่จำนองให้แก่บุคคลภายนอก ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากมิใช่เป็นการโอนให้แก่สถาบันการเงิน ทั้งไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว เพราะความในมาตรา 8 หมายถึงการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้อื่นของลูกหนี้ซึ่งมิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้เจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างของลูกหนี้ ส่วนพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ ยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ.2543 ซึ่งให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และสำหรับการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวนั้น ก็มีผลบังคับใช้สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์โอนไปแล้ว โจทก์จึงไม่ได้สิทธิยกเว้นภาษีอากรตาม พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวเช่นกัน |