เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7055/2544 
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ (1)

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มกับ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้งดหรือลดเบี้ยปรับกับเงินเพิ่มด้วย
จำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วที่โจทก์อุทธรณ์ว่าภาษีครึ่งปีได้รวมอยู่ในภาษีเต็มปีโจทก์จึงเสียภาษีครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ได้อีก และหากจำเลยจะเรียกเก็บจากโจทก์ได้จำเลยก็มีสิทธิเรียกเก็บได้แต่เพียงเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 เท่านั้น คงเป็นภาษีที่โจทก์จะต้องเสียอีกไม่เกิน 4,685.06 บาท การที่จำเลยเรียกให้โจทก์เสียภาษีเป็นเงินทั้งสิ้น 42,856.82 บาท จึงไม่ชอบ เห็นว่า ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ(1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ(1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควรก็จะต้องรบผิดตามมาตรา 67 ตรี ซึ่งจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ(1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี เจ้าพนักงานประเมินจะทราบและสามารถประเมินให้ผู้ต้องเสียภาษีชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกผู้ยื่น รายการมาไต่สวนตรวจสอบ ดังบัญญัติในมาตรา 19 กรณีมิใช่เรื่องการยื่นรายการตามแบบ ไม่ถูกต้องและมีการออกหมายเรียกไต่สวนตรวจสอบแล้วจึงประเมินเพิ่มตามที่ตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 และ 20 ด้วย เหตุนี้เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22 การประเมินในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนเงินค่าภาษีจำนวน 23,425.27 บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า ภาษีที่ชำระตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68 ค่าภาษีจำนวน 23,425.27 บาท จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าภาษีที่โจทก์ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เมื่อโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ยื่นตามปกติและ ที่ได้ยื่นเพิ่มเติม รวมทั้งจะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เนื่องจากบันทึกยอดขายขาดไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีจำนวน 23,425.27 บาท จึงซ้ำซ้อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีของโจทก์ปรากฏจากสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือแบบ ภ.ง.ด.51 ว่าโจทก์มีภาษีที่ชำระเกิน 2,121 บาท โจทก์จึงไม่มีเครดิตภาษีตามมาตรา 68 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น สำหรับประเด็นเงินเพิ่มที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มไม่เกิน 4,685.06 บาท นั้น เห็นว่า ตามหนังสือที่ กค 0810/13103 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2532 วรรคสอง ข้อ 2 เห็นว่า มาตรา 67 ตรี บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่แสดงประมาณกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีโดยไม่มีเหตุอันสมควรเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ(1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะนำมาหักได้ตามกฎหมายในรอบระยะเวลาหกเดือนของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ซึ่งแบบ ภ.ง.ด. 51 ของจำเลยในช่องการคำนวณภาษีก็ยินยอมให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในรายการที่ 4 แล้ว จึงนำมาถือเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเพิ่มเติมในรายการที่ 5 เช่นนี้ โจทก์ย่อมนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปมาหักได้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำหลักเกณฑ์ตามหนังสือที่ กค.0810/13103 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2532 วรรคสอง ข้อ 2 เรื่องซ้อมความเข้าใจในการขอยกเว้นเงินเพิ่ม ตามมาตรา 67 ตรี การเรียกเก็บ เงินเพิ่มตามมาตรา 27 เบี้ยปรับตามมาตรา 22 26 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีนิติบุคคลประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 และกรณีไม่ยื่นประมาณการกำไรสุทธิ ซึ่งแปลความตามมาตรา 67 ตรี ในทางที่เป็นผลร้ายแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากร และวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เฉพาะค่าภาษีอากรจำนวน 23,425.27 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 11,712.64 บาท และให้แก้ไขการประเมินในส่วนเงินเพิ่มโดยให้โจทก์ชำระแต่เพียงเงินเพิ่มจำนวน 4,685.06 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021