โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 7,670,820.80 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกกองทัพบกและสำนักงบประมาณเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต เป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาล ให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสองศาลสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือเสนอราคาของโจทก์ได้ระบุว่าราคาที่เสนอนั้นรวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกจากนี้สัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ก็ได้ระบุว่าค่างาน หมายถึง เงินค่าก่อสร้างของงาน ซึ่งรวม ค่าดำเนินการ ภาษีและกำไรด้วย จึงเป็นการจ้างเหมารวมภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้น คำว่าภาษีในเอกสารดังกล่าว คือ ภาษีทุกประเภทที่จะเกิดมีขึ้นทั้งในขณะทำสัญญาและในอนาคต ซึ่งโจทก์จะต้องรับภาระความเสี่ยงในเรื่องภาษี เมื่อมิได้มีการตกลงกันใหม่ จึงต้องบังคับกันตามสัญญาฉบับเดิม โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดค่าภาษีมูลค่าเพิ่มต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ถึงแม้ตามหนังสือเสนอราคาที่โจทก์เสนอต่อจำเลยที่ 1 ในการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารจะได้ระบุว่า มีค่าภาษีที่ต้องจ่ายรวมอยู่ด้วย และสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ใน รายละเอียดและเงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างแนบท้ายสัญญา จะระบุว่า ค่างาน หมายถึง เงินค่า ก่อสร้างของงาน ซึ่งรวมค่าดำเนินการ ภาษี และกำไรด้วยก็ตาม แต่ภาษีที่โจทก์จะต้อง รับผิดชอบในขณะนั้นคงมีแต่ภาษีการค้าเท่านั้น จึงน่าเชื่อว่าค่าก่อสร้างที่โจทก์คิดจากจำเลย ที่ 1 มีภาษีการค้ารวมอยู่ด้วย แต่ในเวลาทำสัญญาจ้างคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบว่าจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ที่ให้ ยกเลิกภาษีการค้าและนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับแทน จึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในค่าก่อสร้างด้วย สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ 1 เป็นสัญญาให้บริการที่โจทก์ได้ทำกับจำเลยที่ 1 โดยสัญญานั้นได้ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 และมีงานให้บริการตามสัญญาส่วนที่เหลือที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ต่อไปอีก โจทก์จึงมิได้รับยกเว้นที่จะยังคงเสียภาษีการค้าต่อไปสำหรับ ค่าตอบแทนจากการให้บริการหลังวันที่ 1 มกราคม 2535 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีหน้าที่ในการเรียกเก็บภาษีมกูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับบริการจึงต้องรับภาระชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในการที่โจทก์ขอเบิกจ่ายค่าก่อสร้างภายหลังมีการประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ รายการที่โจทก์ขอเบิกจ่ายตั้งแต่งวดวันที่ 30 มกราคม 2535 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติเบิกจ่ายไปแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของศาลอุทธรณ์ที่คิดจากฐานภาษี ซึ่งมีภาษีการค้าอัตราร้อยละ 3.3 รวมอยู่ด้วย แล้วคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 และนำมาหักภาษีการค้าอัตราร้อยละ 3.3 ออกภายหลังเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ระบุว่า ฐานภาษีสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการรวมทั้งภาษีสรรพสามิตด้วย เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างซึ่งมีภาษีการค้ารวมอยู่ด้วย การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จึงต้องคำนวณจากค่าจ้างซึ่งมีภาษีการค้ารวมอยู่ด้วย ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ให้นำภาษีการค้าอัตราร้อยละ 3.3 มาหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 คงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงอัตราร้อยละ 3.7 ของยอดเงินค่าจ้างสุทธิ ตามแบบพิมพ์ขออนุมัติเบิกจ่ายเงินตามงบประมาณท้ายหนังสือขอส่งมอบงานและขอรับเงินก่อสร้างของโจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/4 บัญญัติให้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นเมื่อหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มถึงกำหนดชำระ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายว่า ค่าจ้างก่อสร้าง รายการที่ 12 จำเลยที่ 1 อนุมัติจ่ายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2536 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไป นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2535 ไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า สำหรับค่าก่อสร้างรายการที่ 12 โจทก์ขอเบิกจ่ายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2535 ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2536 คณะกรรมการตรวจรับมอบงานเห็นพร้อมกันว่าควรรับมอบงานและจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้ และปรากฏตามแบบพิมพ์ขออนุมัติเบิกจ่ายเงินตามงบประมาณระบุลงวันที่ 14 มกราคม 2536 แต่วันที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จ่ายเงินได้กลับเป็นวันที่ 15 มกราคม 2535 ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 1 จะอนุมัติให้จ่ายเงินก่อนที่จะมีการตรวจรับมอบงาน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 อนุมัติให้จ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2536 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น" พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างรายการที่ 12 ให้จำเลยที่ 1 ชำระ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 738,514.22 บาท นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ |