โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และหากศาลวินิจฉัยว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะส่วนของเบี้ยปรับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์แจ้งรายได้ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 ต่ำไปหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคสองบัญญัติว่า "การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคหนึ่งให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น" และ "เกณฑ์สิทธิ" คือ เกณฑ์การรับรู้รายได้และรายจ่ายโดยการนำรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นหรือเป็นของรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้ถือเป็นรายได้และรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่าจะได้รับเงินสด หรือจ่ายเงินสดออกไปแล้วหรือไม่ ดังนั้น รายได้และรายจ่ายเมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงินจะถือเป็นรายได้ค้างรับหรือรายจ่ายค้างจ่าย และต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิด้วย ในทำนองเดียวกันหากรายได้ใดได้รับล่วงหน้าหรือรายจ่ายใดได้จ่ายล่วงหน้าเป็นค่าสินค้าหรือ ค่าบริการโดยที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากสินค้าหรือบริการนั้น ก็ยังไม่ถือเป็นรายได้และรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่รับและจ่าย จึงไม่ต้องนำรายได้รับล่วงหน้าหรือรายจ่ายล่วงหน้าดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคำนวณรายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิและวิธีการทางบัญชีเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่าย จึงต้องฟังว่าโจทก์ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่าย และตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528ฯ ข้อ 2 ระบุว่า "การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิโดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
" และข้อ 4.4 ระบุว่า "การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบ กิจการก่อสร้างให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำรายได้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น" หมายความว่า การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นให้ถือว่ารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็ให้ถือว่าเป็นรายได้และรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และงานที่ทำเสร็จในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้จะยังไม่ได้รับเงินก็ต้องนำเอางานที่ทำเสร็จนั้นมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย สำหรับเงินที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้โจทก์ล่วงหน้า โดยจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 รายได้รับล่วงหน้าดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังมิได้มีผลงานให้แก่ ผู้ว่าจ้าง แม้จะรับเงินล่วงหน้ามาแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 ก็ยังไม่ถือเป็นรายได้ของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 โจทก์ได้รับค่าจ้างและค่าจ้างรับล่วงหน้าและได้นำมาคำนวณเป็นรายได้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 แล้ว การรับรู้รายได้ของโจทก์เป็นการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528ฯ แล้ว ดังนั้น โจทก์จึงไม่ต้องนำค่าจ้างรับล่วงหน้า มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 เป็นผลให้โจทก์ มิได้แจ้งรายได้ต่ำไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
" พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะรายการที่บันทึกไว้ต่ำไปพร้อมเบี้ยปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง |