เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1095/2544 
บริษัท ลี คอนทิเนนท์ เทรดดิ้ง จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 89(3) (7), 89

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้ยกเลิกการประเมินภาษีและเพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมิน กับขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายอุทธรณ์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้ยกเลิกการประเมินภาษี และเพิกถอนคำสั่งแจ้งการประเมินภาษี และให้จำเลยเพิกถอน คำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ให้จำหน่ายอุทธรณ์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจยกเลิกการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับเดิม และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจจำหน่ายคำอุทธรณ์ของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากรส่วน 12 หมวด 4 ลักษณะ 2 ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดใหม่ให้ถูกต้อง นอกจากนี้การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ก็มิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใด เนื่องจากการประเมินใหม่นั้นเจ้าพนักงานประเมินยังคงประเมินให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับเท่าเดิม คงมีส่วนเงินเพิ่มเท่านั้นที่ประเมินให้โจทก์ชำระเพิ่มขึ้น ซึ่งก็หาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ เพราะบุคคลที่ไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย บุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง ตามมาตรา 89/1 ดังนั้น หากโจทก์ยังมิได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยอย่างถูกต้องครบถ้วน โจทก์ย่อมมีหน้าที่เสียเงินเพิ่มให้แก่จำเลยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียเงินเพิ่มสูงขึ้นกว่าการประเมินครั้งแรก จึงเป็นการกระทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เงินเพิ่มที่สูงขึ้นจึงมิใช่ผลโดยตรงมาจากการประเมินใหม่ของเจ้าพนักงานประเมิน แต่เป็นผลโดยตรงมาจากการที่โจทก์มิได้ชำระภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน ดังนี้เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจยกเลิกการประเมินของตนเองได้หากพบความผิดพลาดบกพร่อง และเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ยกเลิกการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในครั้งแรกแล้ว กรณีของโจทก์จึงต้องถือเสมือนว่าไม่มีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อไม่มีการประเมินภาษีแล้วจึงไม่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่จะให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไป การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำหน่ายคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีฉบับใหม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในครั้งใหม่นั้นเจ้าพนักงานก็ยังคงประเมินให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับเท่าเดิมคงมีส่วนเงินเพิ่มเท่านั้นที่ประเมินให้โจทก์ชำระเพิ่มขึ้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในครั้งหลังจึงหาใช่การประเมินซ้ำซ้อนหรือทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนแต่ประการใดไม่และเมื่อตรวจสอบคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.197/2541 เรื่อง มอบอำนาจหน้าที่ให้สรรพากรภาค และผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 38(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ปรากฏว่า อธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้สรรพากรภาค ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีอนุมัติขยายเวลาประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งสรรพากรภาค 2 ได้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีโดยอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย จึงเป็นการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้าย แห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีชอบด้วยมาตรา 88/6 วรรคท้าย แล้ว เมื่อโจทก์มีภาษีที่ชำระเกิน โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลที่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายตามมาตรา 89/1 ด้วยเหตุนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มจากโจทก์ ส่วนเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า โจทก์นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้คำนวณภาษี เป็นเหตุให้โจทก์ถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 89(7) โจทก์หาต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ของเงินภาษีเสียคลาดเคลื่อนหรือนำส่งคลาดเคลื่อนหรือของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป ตามมาตรา 89(3) และ (4) อีกด้วยไม่ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 37/2534 เรื่องระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.45/2536 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไป เพราะการใช้ใบกำกับภาษีปลอมดังกล่าวก็เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอยู่ด้วยในตัว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ให้ยกฟ้องโจทก์

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021