เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8855/2543 
บริษัทเคอร์รี่เซ็นเตอร์ จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.รัษฎากรฯ (มาตรา 14,77,88/5,89/2)

เมื่อได้ความว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 5,964,000 บาท ที่โจทก์ได้ชำระภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียตามการยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 แต่จำเลยเห็นว่าในการที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการตามปกติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 โจทก์ต้องชำระเบี้ยปรับเพิ่มเติม 2,800,000 บาท ในการยื่นแบบเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 โจทก์ต้องชำระเบี้ยปรับ 8,050 บาท ซึ่งโจทก์ชำระไว้แล้ว 3,220 บาท คงเป็นเบี้ยปรับที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยจำนวน 2,804,830 บาท เบี้ยปรับนี้ ป.รัษฎากรฯ มาตรา 89/2 ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 14 และมาตรา 77 ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ป.รัษฎากรฯ มาตรา 88/5 ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะสำหรับการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยกำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี ในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 ก็ได้ การที่โจทก์เพียงแต่ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานของจำเลย กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีดังกล่าว อีกทั้งหากมีการแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เพิ่มเติมครั้งที่ 1 โจทก์ได้ชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยไม่มีหน้าที่ต้องชำระจำนวน 5,964,000 บาท และได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (แบบ ค.10) แล้วจำเลยจึงยังไม่อาจนำเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์ เนื่องจากการชำระภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องชำระได้

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021