เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4498/2543 
บริษัทเต็ดตรา แพ้ค(ไทย) จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 , 65 ทวิ (2) , 65 ตรี (3) (5) (13)

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29

โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องจักรผลิตกล่องและบรรจุอาหาร โดยโจทก์เช่าเครื่องจักรจากบริษัทในประเทศสิงคโปร์แล้วนำมาให้ลูกค้าในประเทศไทยเช่าช่วง ค่าเช่าพื้นฐานที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่ารวมทั้งค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องจักรที่เช่าเป็นรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเช่าเครื่องจักร ซึ่งสิทธิการเช่าเครื่องจักรนี้ถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง การได้มาซึ่งสิทธิการเช่าจึงเป็นการได้สิทธิในทรัพย์สิน และเนื่องจากสิทธิการเช่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการของโจทก์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี จึงถือว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำไปหักเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่โจทก์นำเครื่องจักรดังกล่าวออกให้เช่าช่วง โจทก์คงมีสิทธิทยอยหักในรูปของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา เมื่อการเช่าเครื่องจักรระหว่างโจทก์กับผู้ให้เช่าเป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจึงให้ได้ไม่เกินระยะเวลาบัญชีละร้อยละ 10 ตามมาตรา 4 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ป.รัษฎากรฯ ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 การที่เจ้าพนักงานประเมินรายจ่ายดังกล่าวมาเฉลี่ยหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเป็นเวลา 10 ปี จึงชอบด้วยกฎหมาย

ลูกค้าเช่าช่วงเครื่องจักรจากโจทก์เพื่อนำไปผลิตกล่องใช้บรรจุนมและผลไม้ โจทก์คิดค่าเช่าช่วงตามจำนวนกล่องที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่บรรจุในกล่องได้แล้ว ซึ่งจะมีการบันทึกไว้ในมิเตอร์ของเครื่องจักรในแต่ละเดือน สิทธิของโจทก์ที่เรียกให้ผู้เช่าช่วงรับผิดในจำนวนเงินค่าเช่าช่วง จึงเกิดขึ้นในวันที่ผู้เช่าช่วงผลิตกล่องที่จะบรรจุนมและน้ำผลไม้และจำหน่ายได้แล้ว รายได้จากค่าเช่าช่วงจึงเกิดขึ้นในวันดังกล่าวตามหลักเกณฑ์สิทธิ โจทก์ต้องนำรายได้ตามหนี้ดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในวันดังกล่าวตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 65 วรรคสอง ที่โจทก์อ้างว่าผู้เช่าช่วงจะส่งรายงานเป็นหนังสือระบุจำนวนกล่องที่ผลิตได้จากเครื่องจักรในระหว่างเดือนปฏิทินที่ผ่านมาให้แก่โจทก์ไม่ช้ากว่าวันที่ 20 ของทุกเดือนปฏิทินโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะออกใบแจ้งหนี้และเรียกเก็บค่าเช่าช่วงจากผู้เช่าช่วงได้ก่อนที่ผู้เช่าช่วงจะรายงานแจ้งจำนวนการผลิตของเดือนที่ผ่านมา โจทก์จึงต้องบันทึกรายได้ค่าเช่าของเดือนที่ผ่านมาเป็นรายได้ของเดือนที่ออกใบแจ้งหนี้นั้น เป็นเพียงวิธีการชำระเงินค้าเช่าช่วงตามสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับผู้เช่าช่วงเท่านั้น และเป็นเรื่องกิจการภายในธุรกิจของโจทก์เองโจทก์จะนำข้อตกลงระหว่างโจทก์กับผู้เช่าช่วงมาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีตาม ป.รัษฎากรฯ หาได้ไม่ การบันทึกรายได้ค่าเช่ารับตามขนาดและยอดการผลิตที่โจทก์บันทึกไว้จึงเหลื่อมเดือนกัน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินนำค่าเช่าที่คำนวณจากยอดการผลิตและจำหน่ายได้แล้ว ซึ่งโจทก์คำนวณไว้มาบันทึกเป็นรายได้ให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของมาตรา 65 วรรคสอง จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

โจทก์ให้ส่วนลดเพื่อจูงใจลูกค้าของบริษัทโดยกำหนดหลักเกณฑ์การให้ส่วนลดไว้แน่นอนและใช้สำหรับลูกค้าทุกรายของโจทก์ ดังนี้ (1) ลูกค้าที่บรรจุและขายผลิตภัณฑ์บริษัทได้มากกว่า 5 ล้านกล่องจะให้ส่วนลดร้อยละ 2 ของราคาวัตถุดิบ (2) ลูกค้าที่บรรจุและขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้มากกว่า 75 ล้านกล่องจะให้ส่วนลดร้อยละ 3 ของราคาวัตถุดิบ การให้ส่วนลดนี้ถ้าลูกค้าสามารถบรรจุและขายผลิตภัณฑ์ได้มากแล้ว โจทก์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นค่าส่วนลดให้โจทก์ให้แก่ลูกค้าตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายเพื่อประกอบธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของโจทก์อันเกี่ยวข้องกับธุรกิจของโจทก์โดยตรง โจทก์ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ป.รัษฎากรฯ และลำพังเพียงแต่โจทก์ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าของโจทก์ทราบทุกรายถึงแผนการให้ส่วนลดดังกล่าวก็ยังไม่อาจถือว่าส่วนลดดังกล่าวเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หาหรือการกุศลตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่ง ป.รัษฎากรอันจะเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021