คำพิพากษาฎีกาที่1123/2543 | |
นางธิวา โอฬารวัฒน์ หรือศรีพันธ์ | โจทก์ |
นายศักดิ์ชัย สิงห์โตทอง กับพวก | จำเลย |
เรื่อง สัญญากู้ยืมเงิน | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน นำวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นมาใช้ในชั้นอุทธรณ์ มาตรา 142 (5), 246) | |
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินกู้ พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 87,499.99 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปีจากต้นเงิน 50,000 บาท นับจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน50,000 บาท นับจากวันฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่3 เมษายน 2530 จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกเดือนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินจำนวน 50,000 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 22,500 บาท ในการสืบพยานของโจทก์ โจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานเอกสาร หนังสือสัญญากู้ยืมเงินมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ และหนังสือสัญญาค้ำประกันมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญามิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับด้วยหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนแต่ยังมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ทั้งหมด มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันแม้จะปิดอากรแสตมป์มาครบถ้วน แต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ ถือว่ายังปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร แต่ปัญหาที่ว่าเอกสารใดเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรนั้น ไม่ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแต่อย่างใด ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกัน เป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องจริง ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือโดยไม่ต้องอาศัยฟังจากเอกสารอีก ดังนั้น ปัญหาที่ว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน (สุวัฒน์ วรรธนะหทัย - มงคล คุปต์กาญจนากุล - ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์) |