โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทกรม สังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรต่างๆ ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีและเจ้าพนักงานประเมินในคดีนี้ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามแบบ ภ.ง.ด.12 ที่ 41300010/1022535 ลงวันที่ 26 กันยายน 2540 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามแบบ ภ.ส.7 ที่ ปท.0004/2541 ฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามแบบ ภ.ง.ด. 12 เลขที่ 41300010/1/1023535 ฉบับลงวันที่ 26 กันยายน 2540 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามแบบ ภ.ส.7 เลขที่ ปท.0004/2541 ฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้เป็นจำนวนเท่าใด ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี หลักในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมา กฎหมายถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเงินได้ของสามีโดยสามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 57 เบญจ ซึ่งบัญญัติว่า "มาตรา 57 เบญจ ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่ ภริยาจะแยกรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรี ก็ได้ ในกรณีที่ภริยาแยกยื่นรายการตามวรรคหนึ่ง ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ดังนี้ (6) สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47 (1) (ซ) กึ่งหนึ่ง" ซึ่งในกรณีนี้จึงจะถือว่าเงินได้ของภริยามิได้เป็นเงินได้ของสามีในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมาเสียภาษีนี้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 47 ยอมให้หักค่าลดหย่อนได้เพื่อบรรเทาภาระภาษี ส่วนวิธีการหักค่าลดหย่อนจะหักได้แค่ไหน เพียงใดและมีวิธีการอย่างไร กฎหมายได้จำแนกออกไปอีกเช่นว่าเป็นคนโสดหรือมีคู่สมรส หรือเป็นเงินได้ประเภทใด แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากหรือไม่ เป็นต้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้แม้โจทก์จะเคยเสียภาษีมาในฐานะคนโสด แต่ภายหลังมีภริยาและต้องเสียภาษีในฐานะมีคู่สมรสมิใช่ฐานะคนโสดอีกต่อไป ทั้งภริยาของโจทก์นั้นมีเงินได้ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ได้แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากโจทก์จึงไม่ถือว่าเงินได้ของภริยาโจทก์นั้นเป็นเงินได้ของโจทก์ด้วยตามมาตรา 57 เบญจ โจทก์และภริยาจึงต่างฝ่ายต่างมีสิทธิหักค่าลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาตรา 47 (1) (ซ) กึ่งหนึ่ง ตามบทบัญญัติของมาตรา 57 เบญจ (6) ที่กล่าวมา ส่วนจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47 (1) (ซ) นั้น ประมวลรัษฎากรให้หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่วิธีการหักต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้แก่ประกาศฉบับลงที่ 24 ลงวันที่ 12 มิถุนายน2529 ข้อ 1 (8) ความว่า "ข้อ 1 หารหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักค่าลดหย่อนได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้... (8) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกันให้คงหักลดหย่อนได้ดังนี้ (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้อยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้อยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน ให้หักลดหย่อนได้รวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท กรณีผู้มีเงินได้ซื้อมีสิทธิมีสิทธิลดหย่อนอยู่ก่อนแล้วตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพียงฝ่ายเดียว ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท..." กรณีของโจทก์ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติในวรรคสองของ (8) เพราะโจทก์เพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้มีสิทธิหักค่าลดหย่อนอยู่ก่อนสมรส ปัญหาว่าจะหักค่าลดหย่อนได้เต็มจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท หรือจะหักได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ปรากฏว่าโจทก์มีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายจริงเกิน 10,000 บาท จึงมีปัญหาว่าจะหักค่าลดหย่อนได้เพียง 10,000บาท หรือเพียง 5,000 บาท เห็นว่า ประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรที่กล่าวมาต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 57 เบญจ (6) ซึ่งใช้สิทธิภริยาหักค่าลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47 (1) (ซ) กึ่งหนึ่ง ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2539 ภริยาโจทก์เป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และได้แยกยื่นรายการเพื่อเสียภาษีต่างหากจากโจทก์ มิใช่กรณีที่ถือว่าเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี ภริยาโจทก์จึงมีสิทธิหักค่าลดหย่อน สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกึ่งหนึ่ง คือ 5,000 บาท แม้หากในการยื่นรายการเพื่อเสียภาษี ภริยาของโจทก์มิได้หักค่าลดหย่อนส่วนนี้ไว้ ทำให้ต้องเสียภาษีเกินไป ก็มีสิทธิขอคืนได้และกรมสรรพากรก็มีหน้าที่ต้องคืนให้ โจทก์จึงมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ได้เพียง 5,000 บาท หากแปลข้อความในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 24) ข้อ 1 (8) วรรคสอง ว่า โจทก์มีสิทธิหักค่าลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ได้ 10,000 บาท เพราะเป็นสิทธิที่โจทก์มีอยู่ก่อนแล้วก่อนสมรสดังศาลภาษีอากรกลสงวินิจฉัย จะมิกลายเป็นว่ายอมให้โจทก์และภริยาหักค่าลดหย่อนรวมกันแล้วได้เกิน 10,000 บาท เพราะสิทธิหักค่าลดหย่อนของภริยายังมีอยู่กึ่งหนึ่ง อาจมีปัญหาน่าฉงนว่าความในวรรคสองของข้อ 1 (8) จะมีที่ใช้ในกรณีใด คำตอบก็คืออาจมีที่ใช้ได้ในกรณีเช่น (1) ภริยาไม่มีเงินได้ หรือ (2) ภริยามีเงินได้ที่ไม่ใช่เงินได้ตามาตรา 40 (1) ซึ่งต้องถือว่าเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรี เมื่อสามีเป็นผู้ยื่นแบบเสียภาษีโดยรวมเป็นได้ของภริยาด้วย หรือ (3) ภริยามีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แต่ไม่แยกยื่นแบบเสียภาษีและไม่แยกคำนวณโดยรวมให้รวมเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรี เป็นต้น ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวสามีย่อมมีสิทธิหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู่ยืมได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ด้วยเหตุวินิจฉัยดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น" พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง (สมศักดิ์ วงศ์ยืน -ปราโมทย์ บุนนาค -เดิมพัน จรรยามั่น) |