เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3543/2542 
บริษัทการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)

โจทก์มีทุนจดทะเบียน 10,000,000.-บาท และจดทะเบียนไว้ว่าทุนจดทะเบียนเรียกชำระเต็มแล้ว โจทก์คำนวณรายได้และรายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สิทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยแสดงในงบดุลว่ามีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระ 1,200,000.-บาท โดยโจทก์มิได้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นดังกล่าว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122 บัญญัติว่า "ถ้าและเงินอันจะพึงใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้น ผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวันกำหนดไซร้ ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ" ดังนั้นการที่โจทก์ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้นที่ค้างชำระค่าหุ้นย่อมทำให้โจทก์มีกำไรสุทธิน้อยลง เจ้าพนักงานจึงมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นโดยถือเสมือนว่าโจทก์ให้ผู้ถือหุ้นกู้เงินเนื่องจากโจทก์ลงบัญชีว่า ได้รับชำระค่าหุ้นครบตามทุนจดทะเบียน 10,000,000.-บาท แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
โจทก์จ่ายค่าตอบแทนกรรมการสำหรับการบริหารงานในปี 2535 จำนวน 1,100,000.-บาท โดยหักเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ค่าตอบแทนกรรมการดังกล่าวจะกำหนดเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทโจทก์และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของผู้ถือหุ้น และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง ผู้ประกอบการจะต้องลงบัญชีรับรู้รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่ต้องคำนึงว่าได้รับ ชำระเงินหรือได้จ่ายเงินไปแล้วภายในรอบระยเวลาบัญชีนั้นหรือไม่ แต่การรับรู้รายได้หรือรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธิมีหลักสำคัญอยู่ว่ารายได้หรือรายจ่ายนั้นจะต้องมีความแน่นอนที่ผู้ประกอบการ มีสิทธิจะได้รับชำระหรือมีหน้าที่จะต้องจ่าย อีกทั้งต้องเป็นจำนวนที่แน่นอนที่สามารถลงบัญชีรับรู้รายได้ สำหรับรายจ่ายค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535 นั้นยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นจะอนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนหรือไม่ ทั้งไม่เป็นการแน่นอนว่าจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่าใด ดังนั้น แม้ว่าค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535 จะสัมพันธ์กับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่ก็มิใช่รายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้หรือเป็นต้นทุนของรายได้โดยตรง และยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนกรรมการดังกล่าวนั้นหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่ารายจ่ายนั้นได้เกิดขึ้นแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่โจทก์
สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ได้ เพราะหน้าที่ของโจทก์ในการจ่ายเงินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น คือหลังจากที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการในการประชุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 เมื่อถือเป็น รายจ่ายของปี 2536 โจทก์ก็ไม่จำต้องนำรายจ่ายนี้ไปปรับปรุงเป็นรายจ่ายของปี 2535 ในการยื่นเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.50 แต่ประการใด

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021