เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2165/2542 
บริษัทสยามวิทยา จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีการค้า
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.รัษฎากรฯ (มาตรา 88, 89)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ ต.1037/4/103259 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเลขที่ สภ.3 (อธ.2)/141/2540 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2540
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ ต.1307/4/03259 (ที่ถูกเลขที่ ต.1037/4/103259) ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.3 (อธ.2)/141/2540 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2540 เป็นให้โจทก์ชำระภาษีการค้าจำนวน 12,674.52 บาท เบี้ยปรับจำนวน 12,674.52 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2533 และนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มทั้งหมดที่คำนวณได้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ กับให้โจทก์ชำระภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละสิบของภาษีการค้าโดยรวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีการค้าโจทก์สำหรับรายรับเดือนธันวาคม 2529 โดยอ้างว่า โจทก์มีรายรับต้องเสียภาษีการค้าจำนวน 3,876,591.69 บาท คิดเป็นภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2531 และภาษีบำรุงเทศบาลเป็น 290,395 บาท ตามภาพถ่ายหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2533 โจทก์ได้ชำระภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2533 และภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน 336,449.37 บาท ตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้างและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 ถึง 12 และได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 156/2533 คดีหมายเลขแดงที่ 251/2534 ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าดังกล่าว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าว่าให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยให้ปรับปรุงยอดรายรับใหม่เป็นให้นำรายรับที่โจทก์ได้รับจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ยูนิโก้เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด บริษัทเงินทุนทรัพย์มิดแลนด์ จำกัด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด ธนาคารสหธนาคาร จำกัด ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และบริษัทเวสต์-เทิร์น จำกัด ในจำนวนตามคำวินิจฉัยหักจากยอดรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้า เมื่อคำนวณภาษีการค้าใหม่แล้วหากมีภาษีการค้าจะต้องคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยคืนภาษีการค้าพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 ถึง 57 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืนในประเด็นนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1768/2536 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 58 ถึง 91 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีการค้าโจทก์สำหรับเดือนธันวาคม 2529 โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายรับเพื่อเรียกภาษีการค้าต่ำไป 422,483.92 บาท และให้โจทก์เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 41,825 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 27 โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 23 ถึง 26 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ตามเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 4 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์แถลงว่าหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1768/2536 แล้ว โจทก์ได้ขอคืนเงินภาษีต่อกรมสรรพากรและได้รับเงินที่โจทก์ได้ชำระภาษีการค้าไว้คืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี รายรับที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าสำหรับเดือนธันวาคม 2529 นั้นเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ว่า มีจำนวน 3,876,591.69 บาท แต่ตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางและคำพิพากษาของศาลฎีกาให้หักรายรับต่าง ๆ ของโจทก์ออกจำนวน 3,454,107.77 บาทในเดือนธันวาคม 2529 โจทก์จึงยังมีรายรับที่นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าจำนวน 422,483.92 บาท คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในครั้งแรกเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีการค้าโจทก์สำหรับรายรับในเดือนธันวาคม 2529 โดยอ้างว่าโจทก์มีรายรับต้องเสียภาษีการค้าจำนวน 3,876,591.69 บาท ตามภาพถ่ายหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 และโจทก์ได้ชำระภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 336,449.37 บาท ตามการประเมินแล้วตามภาพถ่ายแบบขอชำระภาษีอากรคงค้าง (แบบ ท.ป.3) และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 และ 12 ตามลำดับ แต่รายรับตามจำนวนที่ศาลภาษีอากรกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 251/2534 และตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1768/2536 ให้หักออกจากการประเมินมีจำนวน 3,454,107.77 บาท โจทก์จึงมีรายรับที่จะต้องเสียภาษีการค้าอยู่อีกจำนวน 422,483.92 บาท ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางและคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้พิพากษาให้นำรายรับจำนวน 3,454,107.77 บาท มาหักออกจากยอดรายรับตามการประเมินจำนวน 3,876,591.69 บาท เหลือรายรับเท่าใดแล้วจึงคำนวณภาษีการค้าหากมีภาษีการค้าที่จะต้องคืนแก่โจทก์ให้จำเลยคืนภาษีการค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แม้จะได้ความว่าต่อมาโจทก์ได้ขอคืนเงินภาษีและจำเลยได้คืนเงินที่โจทก์ได้ชำระภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยคืนภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ไปเกินกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนตามคำพิพากษา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องเรียกเงินที่ชำระแก่โจทก์เกินไปคืน การที่จำเลยกลับมาทำการประเมินและปรากฏว่ารายรับพิพาทจำนวน 422,483.92บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 เป็นรายรับที่รวมอยู่ในจำนวนเดียวกันกับรายรับจำนวน 3,876,591.69 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้เคยทำการประเมินแล้ว ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 การที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีการค้าสำหรับรายรับพิพาทจำนวน 422,483.92 บาท จึงเป็นการประเมินซ้ำกับการประเมินครั้งแรก ทำให้โจทก์เสียหายโดยต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเพียงภาษีการค้าที่จำเลยคืนให้โจทก์เกินไปเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด ทำให้หนังสือแจ้งภาษีการค้าดังกล่าวเป็นหนังสือแจ้งการประเมินที่ออกโดยไม่มีอำนาจ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบตามไปด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ ต.1037/4/103259 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.3 (อธ.2)/141/2540 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2540
(เรืองฤทธิ์ ศรีวรรธนะ - สุทธิ นิชโรจน์ - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021