คำพิพากษาฎีกาที่7338/2541 | |
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส่งสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล | โจทก์ |
กรมสรรพากร กับพวก | จำเลย |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.รัษฎากร (มาตรา 89) | |
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แต่ถ้าศาลเห็นว่าโจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ใช้ใบกำกับภาษีปลอมมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้การที่โจทก์ใช้ใบกำกับภาษีปลอมโดยรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีการซื้อขายสินค้าจริง ถือได้ว่าเป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการชำระภาษีและฉ้อโกงเงินภาษีของรัฐด้วย จึงไม่สมควรได้รับการพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยปรับในกรณีใด ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาตามฟ้องบางส่วน โดยให้โจทก์รับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่าของภาษีที่ต้องชำระเป็นเงิน 1,205,507.06 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ใบกำกับภาษีจำนวน 140 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 234 ถึง 373 ซึ่งโจทก์นำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวมาเป็นภาษีซื้อคำนวณหักออกจากภาษีขายในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับปี 2538 เป็นใบกำกับภาษีปลอม คดีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์เสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89(7) เพียงอนุมาตราเดียวชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีปลอมมาเป็นภาษีซื้อคำนวณหักออกจากภาษีขายในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเข้าลักษณะความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89(7) นั้น ย่อมเป็นการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องและแสดงภาษีซื้อเกินไปอันเข้าลักษณะความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(4) อยู่ด้วยในตัวแต่เมื่อมาตรา 89(7) กำหนดให้เสียเบี้ยปรับสองเท่าย่อมเห็นได้ว่ามุ่งหมายจะลงโทษปรับให้สูงขึ้นโดยให้รับผิดมาตรา 89(7) เพียงอนุมาตราเดียว หาได้มุ่งหมายให้ปรับทุกอนุมาตรารวมกัน ดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ไม่ โจทก์จึงหาต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) อีกด้วยไม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า การลดหรืองดเบี้ยปรับในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งได้วางระเบียบว่าด้วยการลดหรืองดเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ไว้เป็นพิเศษแล้วโดยออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 37/2534 โจทก์จึงต้องรับผิดทั้งสองอนุมาตรานั้น เห็นว่า มาตรา 89 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 37/2534 ดังกล่าววางระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวจึงเป็นเรื่องระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ประเด็นแห่งคดีนี้เป็นเรื่องอำนาจในการเรียกเก็บเบี้ยปรับของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ว่าเรียกเก็บได้กี่อนุมาตรา ฉะนั้น จึงไม่อาจนำคำสั่งดังกล่าวมาใช้กับคดีนี้ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์เสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(7) เพียงอนุมาตราเดียวจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง อุทธรณ์จำเลยทั้งสี่ฟ้งไม่ขึ้น" พิพากษายืน (ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ - สุทธิ นิชโรจน์ - เหล็ก ไทรวิจิตร) |