เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3411/2541 
กรมสรรพากร โจทก์

บริษัทแมนเนอร์ เทรดดิ้ง จำกัด

จำเลย
เรื่อง เสียเบี้ยปรับกรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.รัษฎากร (มาตรา 23,24,48,65 ทวิ,65ตรี,71)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 และจดทะเบียน เสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2538 เจ้าพนักงานของโจทก์ ตรวจพบว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 จำเลยมีรายได้จากการส่งออก สินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์ แต่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติ- บุคคล เจ้าพนักงานของโจทก์จึงได้ออกหมายเรียกไปยังจำเลย เพื่อตรวจ สอบภาษีอากรของจำเลยทุกประเภท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ วันที่ 28 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 จำเลยได้รับหมาย เรียกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่มิได้พาพบเจ้าพนักงานของโจทก์ อีกทั้งมิได้นำเอกสารหลักฐานมามอบเพื่อตรวจสอบแต่อย่างใด จากการ ตรวจสอบพบว่าจำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า เป็นเงินจำนวน 11,259,623.34 บาท และ เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินจำนวน 1,520,049.15 บาท รวมเป็นเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยต้องชำระ 18,409,484 บาท และเมื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยต้องชำระเพิ่ม เติมจากผลการตรวจสอบของเจ้าพนักงานของโจทก์ รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จำเลยต้องชำระ 2,232,409 บาท รวมภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่า เพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตาม (1) และ (2) ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 20,641,893 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้ แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยไม่นำเงินภาษีจำนวน ดังกล่าวไปชำระให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งมิได้อุทธรณ์ โต้แย้งการประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ เงินภาษีดังกล่าวถือเป็นภาษีอากรค้าง จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 27 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากรโดยคำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดให้ชำระ ตามที่คำนวณไว้ในหนังสือแจ้งการประเมินจนถึงวันฟ้องรวม 10 เดือน เป็นเงินเพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 จำนวน 844,471.80 บาท เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 75,316.84 บาท รวมเป็นเงินเพิ่มภาษีทั้งสองประเภทถึงวันฟ้องจำนวน 919,780.64 บาท รวมเป็นเงินภาษีที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 21,157,470.65 บาท โจทก์ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยนำเงินค่า ภาษีจำนวนดังกล่าวมาชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลย ชำระภาษีอากรจำนวน 21,157,470.65 บาท และชำระเงินเพิ่มภาษีเงิน ได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 27 และมาตรา 89/1 แห่ง ประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของ เงินภาษีที่ต้องชำระนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ภาษีอากรจำนวน 6,965,492.49 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลา บัญชีปี 2537 ที่ต้องชำระจำนวน 3,248,684.95 บาท และจากต้นเงิน ภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนเมษายน 2537 มิถุนายน 2537 และ พฤศจิกายน 2537 จำนวน 502,869.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องจน กว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อคำนวณแล้วมิให้เกิน กว่าจำนวนภาษีแต่ละประเภทที่ต้องเสียหรือนำส่ง คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบ รับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบพบว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2537 จำเลยไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล และมิได้ มาพบเจ้าพนักงานของโจทก์ให้ไต่สวน ไม่นำบัญชี เอกสารหรือพยาน หลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อตรวจสอบทั้งที่ได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงาน ประเมินที่ออกตามมาตรา 19 และ 23 แห่งประมวลรัษฎากร ตามหมาย เรียกตามประมวลรัษฎากร (ภ.ส.5) เอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 156 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งจำเลยมีรายได้จากการส่งออกสินค้า อะไหล่รถยนต์ รายได้จากการให้บริการส่งออกและรายได้จากการขาย บัตรชดเชยภาษีส่งออกรวมเป็นเงิน 64,973,698.91 บาท เจ้าพนักงาน ของโจทก์จึงคิดคำนวณรายจ่ายในการขายอะไหล่รถยนต์ โดยคิดเหมา ให้ในอัตราร้อยละ 80 ของรายรับ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงิน ได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 และคิดคำนวณรายจ่ายในการ ให้บริการส่งออกโดยคิดเหมาให้ในอัตราร้อยละ 40 ของรายได้ซึ่งภาษี ตามการประเมินวิธีนี้ จะมีจำนวนมากกว่าการประเมินภาษีในอัตราร้อย ละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักราย จ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ดังที่ บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ตามรายละเอียดการ คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 56 และ 57 อันเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 5/2527 เรื่อง การ ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ ของโจทก์ว่ากรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลในคดีนี้จะนำพระราชกฤษฎีกาออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้ หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 มาใช้บังคับได้หรือ ไม่ เห็นว่า หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เก็บจากเงิน ได้สุทธิ ซึ่งคำนวณได้จากเงินได้พึงประเมินหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่า ลดหย่อนตามที่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นเก็บจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลา บัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่มาตรา 71 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า "ในกรณีที่ (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ยื่น รายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ หรือมิได้ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และ มาตรา 68 ทวิ หรือไม่นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้า พนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของ ยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ถ้ายอดรายรับก่อน หักรายจ่ายหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ปรากฏ เจ้าพนัก- งานประเมินมีอำนาจประเมินโดยอาศัยเทียบเคียงกับยอดในรอบระยะ เวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป ถ้ายอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนไม่ปรากฏ ให้ประเมินได้ตามที่เห็นสมควร" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไม่ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งจำเลยได้รับหมาย เรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยมิได้มาให้ ไต่สวนและไม่นำบัญชี เอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อตรวจ สอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 จึงต้องตามบทบัญญัติมาตรา 71 (1) ดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน ภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือ ยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่าง ใดจะมากกว่า คดีได้ความว่าจำเลยมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 เป็นเงิน 64,973,698.91 บาท จึงต้องเสียภาษีในอัตราร้อย ละ 5 ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 (1) คิด เป็นเงิน 3,248,684.95 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มตามมาตรา 27 กรณีข้างต้นไม่อาจนำพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวล รัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ซึ่งใช้บังคับสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดามาใช้บังคับโดยอนุโลมดังที่โจทก์อุทธรณ์ได้ เพราะ กฎหมายได้บัญญัติไว้แจ้งชัดโดยเฉพาะแล้ว ทั้งคำพิพากษาศาลฎีกา ที่โจทก์อ้างไว้ในอุทธรณ์รูปเรื่องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่โจทก์ อุทธรณ์อ้างว่า มาตรา 71 วรรคสอง บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรานี้ ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินให้เสียภาษีตาม บทบัญญัติในมาตราอื่น" แสดงว่าเจ้าพนักงานประเมินมีสิทธิเลือกใช้การ ประเมินภาษีตามมาตรา 24 ได้ เพราะกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก ของเจ้าพนักงานประเมินทำให้เสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่ปฏิบัติตามหมาย เรียกนั้นเห็นว่า แม้ตามบทบัญญัติดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินจะมี อำนาจเลือกประเมินภาษีตามมาตรา 24 จากฐานกำไรสุทธิแทนฐาน รายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71 (1) แต่เมื่อการคำนวณภาษี จากฐานกำไรสุทธิไม่อาจหักรายจ่ายเป็นการเหมาตามที่กำหนดไว้ใน พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนด ค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในการคำนวณ กำไรสุทธิให้จำเลยจึงไม่ชอบ และมีผลทำให้กำไรสุทธิและภาษีที่คำนวณ ได้ไม่ชอบไปด้วย ดังที่ปรากฏรายละเอียดตามแบบการคำนวณภาษี เงินได้นิติบุคคล เอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 56 ดังนั้น การเลือก ประเมินภาษีตามมาตรา 24 จากฐานกำไรสุทธิจึงไม่ชอบ ส่วนที่โจทก์ อุทธรณ์อ้างว่าในกรณีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน ทำให้เสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่ปฏิบัติตามหมายเรียกนั้น เห็นว่าการจัดเก็บ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้หักด้วย รายจ่ายตามเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ข้างต้น จึงเห็นได้ว่าหาก สามารถพิสูจน์แสดงรายจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้มากเท่าใด แล้วนำไปหักออกจากรายได้มากเพียงใดก็จะเสียภาษีน้อยลงเท่านั้น หรือถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่ายถือว่าขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงอยู่ที่การพิสูจน์รายจ่ายตามกฎหมาย หาใช่การไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินทำให้เสีย ภาษีน้อยกว่าผู้ที่ปฏิบัติตามหมายเรียกดังที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ - ยงยุทธ ธารีสาร - สุนทร สิทธิเวชวิจิตร)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021