เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2386/2541 
พนักงานอัยการ จังหวัดบุรีรัมย์โจทก์

นายศิริชัย สุขจิตร

จำเลย
เรื่อง ยักยอกทรัพย์ของสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาญา ยักยอก (มาตรา 352) , วิธีพิจารณาความอาญา ผู้เสียหาย (มาตรา 2(4)

ป. รัษฎากรฯ (มาตรา 118)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลย นายสังวาร กองแก้ว นายประเสริฐ ศรียา และนายสว่าง ทองเรือง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรับผิดชอบการเงินของสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดได้รับมอบเงินของสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดไว้ในความครอบครองดูแลร่วมกัน ต่อมาจำเลยซึ่งครอบครองเงินจำนวน 40,000 บาท ของสำนักงานสงฆ์ห้วยน้ำผุดได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเห็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 40,000 บาท แก่สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูกมาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 40,000 บาท แก่สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่าสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดเป็นนิติบุคคลหรือไม่ การที่จำเลยยักยอกเงินของสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด นายสว่าง ทองเรือง นายสังวาร กองแก้ว และนายประเสริฐ ศรียา เป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์ไม่ได้ปิดแสตมป์จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพระภิกษุประจักษ์เป็นเจ้าคณะสงฆ์สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2536 ชาวบ้านร่วมกันนำผ้าป่าไปทอดให้สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด ได้รับเงินสุทธิ 150,000 บาท ขณะนั้นพระภิกษุประจักษ์ยังเป็นพระภิกษุจำวัดอยู่ที่สำนักสงฆ์ดังกล่าวได้ให้พระภิกษุขวัญเมือง ฝีมือช่างหรือสุธรรมโม เลือกชาวบ้านเป็นกรรมการดูแลรับผิดชอบเงินจำนวนดังกล่าว พระภิกษุขวัญเมืองจึงให้นายสว่างเป็นผู้เลือกชาวบ้าน 4 คน เป็นกรรมการดูแลรักษาเงิน นายสว่างได้เสนอตนเองนายสังวาร นายประเสริฐ และจำเลยเป็นกรรมการด้วยความเห็นชอบของชาวบ้านที่มาทอดผ้าป่าจากนั้นกรรมการทั้งสี่ร่วมกันรับมอบเงินไปเก็บรักษาโดยนายสว่างเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้กรรมการแต่ละไปเก็บรักษา ซึ่งนายสว่างได้ให้นายสังวารกับนายประเสริฐเก็บรักษาเงินคนละ 30,000 บาท จำเลยเก็บรักษาเงิน 40,000 บาท ส่วนนายสว่างเก็บรักษาเงิน 50,000 บาท เมื่อสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดต้องการใช้จ่ายเงิน พระภิกษุขวัญเมืองจะเบิกเงินจากนายสว่างตลอดมา จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2536 ทางสำนักงานสงฆ์ดังกล่าวเบิกเงินซึ่งเก็บรักษาไว้ที่นายสว่างนายสังวาร และนายประเสริฐรวมเป็นเงิน 110,000 บาท หมด ทางสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดต้องการใช้จ่ายเงินอีก นายสว่างกับนายสังวารจึงไปทวงถามเงินจากจำเลยหลายครั้งแต่จำเลยบอกว่ายังไม่มีเงิน ครั้นวันที่ 5 ธันวาคม 2537 นายสว่าง นายสังวาร และนายประเสริฐไปทวงถามเงินจากจำเลยอีกจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เก็บรักษาเงินของสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด นายสว่างนายสังวารและนายประเสริฐจึงมอบอำนาจให้นายสว่างไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปะคำให้ดำเนินคดีแก่จำเลย

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตามแต่เงินผ้าป่า 150,000 บาท เป็นเงินที่ชาวบ้านนำไปทอดให้สำนักงานสงฆ์ห้วยน้ำผุดซึ่งพระภิกษุประจักษ์เป็นเจ้าคณะสงฆ์อยู่ในขณะนั้น พระภิกษุประจักษ์จึงมีหน้าที่ดูแลเงินผ้าป่าดังกล่าว เมื่อพระภิกษุประจักษ์มอบให้พระภิกษุขวัญเมืองเป็นผู้เลือกชาวบ้านเป็นกรรมการดูแลรับผิดชอบจำนวนเงินนั้น นายสว่าง นายสังวาร นายประเสริฐ และจำเลยได้รับเลือกเป็นกรรมการและร่วมกันรับมอบเงินจำนวนดังกล่าวไปเก็บรักษา หากจำนวนเงินดังกล่าวสูญหายกรรมการทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด แม้กรรมการแต่ละคนจะได้รับเงินเพียงบางส่วนไปเก็บรักษาก็เป็นการแบ่งความรับผิดชอบกันเองภายหลังจากรับเงินทั้งจำนวนมาแล้วการที่จำเลยรับมอบเงินจำนวน 40,000 บาท ไปเก็บรักษาแล้วยักยอกเงินจำนวนนั้นไป นายสว่าง นายสังวาร และนายประเสริฐจึงเป็นผู้เสียหายในอันที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้โดยถือว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ของสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายสว่าง นายสังวาร นายประเสริฐ และจำเลย เมื่อนายสว่างผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการอื่นให้ไปร้องทุกข์ การร้องทุกข์ของนายสว่างจึงเป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้หนังสือมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์จะไม่ได้ปิดแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เนื่องจากประมวลรัษฎากร มาตรา118 ห้ามมิให้รับฟังหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ปิดแสตมป์เป็นพยานหลักฐานเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้นมิได้ห้ามมิให้รับฟังในคดีอาญาแต่อย่างใด ทั้งการมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อนายสังวารกับนายประเสริฐเบิกความยืนยันว่ามอบอำนาจให้นายสว่างไปร้องทุกข์ก็เพียงพอที่จะรับฟังได้ฎีกาข้อกฎหมายอื่นของจำเลยนอกจากนี้ไม่เป็นสาระที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(อภิศักดิ์ พรวชิราภา - กนก พรรณรักษา - วิชา มั่นสกุล)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021