คำพิพากษาฎีกาที่1445/2541 | |
บริษัทนิจิเมน จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป. รัษฎากร (มาตรา 65, 65 ตรี (18), 66, 70 ทวิ) | |
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ยกเลิกหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ ต. 4/10 37 2/100429 และ ต. 4/10 37/2/100430 ฉบับลงวันที่14 กันยายน 2536 ยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 451 ก/2538/1 และ 451 ข/2538/1 จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 เมษายน 2530 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 ไว้ไม่ถูกต้องจึงออกหมายเรียกเพื่อทำการตรวจสอบภาษีของโจทก์และพบว่าโจทก์ชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้องการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว เพราะโจทก์สำนักงานใหญ่มีกำไรจากการประกอบธุรกิจขายสินค้าผ่านตัวแทนในประเทศไทยโจทก์มีรายได้เป็นดอกเบี้ยแต่มิได้นำลงบัญชีและมีรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี จำเลยคำนวณภาษีตามสูตรที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้ตกลงกันไว้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบโดยมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และจดทะเบียนนิติบุคคล ณ กรุงเทพมหานครซึ่งอธิบดีกรมการค้าได้ออกหนังสือรับรองประกอบธุรกิจบัญชี ค. มีสิทธิประกอบธุรกิจตั้งแต่วันที่ 26พฤศจิกายน 2515 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 โจทก์เป็นสาขาของบริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่นโดยระบุในหัวหนังสือของโจทก์ว่าบริษัทนิจิเมจจำกัด สาขากรุงเทพ ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 214 และเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัท นิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวิสาหกิจของประเทศญี่ปุ่น ตามอนุสัญญา ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้เอกสารหมาย จ.5 และ จ.10 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต. 4/10 37/2/100429 ลงวันที่14 กันยายน 2536 แจ้งว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 ปรากฏว่าโจทก์มีกำไรจากการขายสินค้าของสำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่นผ่านตัวแทนในประเทศไทยจำนวน 56,820,304.32บาท แต่มิได้ยื่นแบบเสียภาษีจำหน่ายเงินกำไรตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติมจำนวน 6,155,532.97 บาท เบี้ยปรับ 12,311,065.94 บาท เงินเพิ่ม 5,632,312.39 บาท รวมทั้งสิ้น 24,098,911.30 บาทและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต. 4/10 37/2/100430 ลงวันที่ 14 กันยายน 2536 แจ้งว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 ปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50มีผลกำไรสุทธิ 39,986,577.79 บาท จากการตรวจสอบพบว่าโจทก์มีรายได้ไม่ลงบัญชี คือดอกเบี้ยค้างรับ 86,980.95 บาท ขายอุปกรณ์ 15,900 บาท กำไรสุทธิจากการขายสินค้าผ่านตัวแทนในประเทศไทย ตรวจพบเพิ่ม15,675,881.43 บาท มีค่าใช้จ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18)แห่งประมวลรัษฎากรจำนวน 193,000 บาท จึงทำการปรับปรุงพบว่าโจทก์มีกำไรสุทธิ 55,958,340.17 บาท เป็นเงินภาษี 19,585,419.05 บาท หักภาษีที่ชำระไว้แล้ว 13,995,302.23 บาท ต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติม5,590,116.82 บาท เบี้ยปรับ 5,590,116.82 บาท เงินเพิ่ม 5,114,956.75 บาท รวมทั้งสิ้น 16,295,190.39 บาท ให้โจทก์นำเงินภาษีตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้ง 2 ฉบับไปชำระ ณ สำนักงานเขตบางรัก กรุงเทพมหานครภายใน 30 วัน ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 4 และแผ่นที่ 5 โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 107 ถึงแผ่นที่ 113 และแผ่นที่ 70 ถึงแผ่นที่ 77 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 551 ก/2538/1 เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรให้ลดเบี้ยปรับที่เรียกเก็บลงเป็นเงิน 6,155,532.97 บาท คงเหลือเรียกเก็บเป็นเงินภาษี 6,155,532.97 บาท เบี้ยปรับ 6,155,532.97 บาท เงินเพิ่ม 5,632,312.39 บาท รวมเรียกเก็บเป็นเงินทั้งสิ้น17,943,378.33 บาท และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 451 ข/2538/1 เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ลดเบี้ยปรับลงเป็นเงิน 2,795,058.41 บาท คงเหลือเรียกเก็บเงินภาษี 5,590,116.82 บาท เบี้ยปรับ 2,795,058.41 บาท เงินเพิ่ม 5,114,956.75 บาท รวมเรียกเก็บเป็นเงินทั้งสิ้น 13,500,131.98 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 ถึงแผ่นที่ 7 และแผ่นที่2 ถึง 4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เว้นแต่รายการเกี่ยวกับรายได้จากการขายอุปกรณ์ 15,900 บาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาวินิจฉัยประการแรกมีว่า ดอกเบี้ยค้างรับ จำนวน 86,980.95 บาท เป็นรายได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าดอกเบี้ยค้างรับดังกล่าวจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล แต่ลูกหนี้ยังไม่สามารถชำระเงินแก่โจทก์จึงไม่เข้าข่ายที่จะถือเป็นเกณฑ์สิทธิ และในทางบัญชีโจทก์ใช้เกณฑ์เงินสดสำหรับการรับรู้รายได้ในส่วนดอกเบี้ยมาโดยตลอดนั้น เห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายรัษฎากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2520 บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี โดยรายได้ที่นำมาคำนวณให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้เกณฑ์อย่างอื่นแทนเกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิ เพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายทั้งกิจการของโจทก์มิใช่กิจการตามประเภทระบุไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ที่จะทำให้โจทก์สามารถใช้เกณฑ์อื่นในการคำนวณกำไรสุทธิได้แต่อย่างใดดังนั้น โจทก์จึงต้องใช้ระบบบัญชีเกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2530 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 โจทก์จะใช้ระบบบัญชีเกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินดอกเบี้ยจากลูกหนี้แล้ว เมื่อโจทก์ใช้ระบบบัญชีเกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 86,980.95บาท มาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่โจทก์อุทธรณ์ว่าดอกเบี้ยค้างรับดังกล่าวมิใช่รายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องใช้เกณฑ์สิทธินั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในข้อนี้ชอบแล้ว ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ค่าใช้จ่ายจำนวน193,000 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18) หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์พิสูจน์ได้แล้วว่า โจทก์ได้จ่ายเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้างออกของ มีนายโบวงษ์เจริญธรรม ซึ่งโจทก์จะจ้างให้เป็นผู้ออกของได้ออกใบรับตามเอกสารหมาย จ. 11 นั้น ข้อนี้นายฮิโรซิ มัตซูโน กรรมการผู้จัดการโจทก์เบิกความลอย ๆ ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจากการออกของตามแบบพิธีการทางศุลกากรที่โจทก์ชำระแก่กรมศุลกากร ทั้ง ๆ ที่หากมีการจ่ายเงินค่าออกของจริงก็เป็นกรณีที่จะต้องมีหลักฐานการรับเงินของกรมศุลกากรรวมทั้งใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมของการท่าเรือกรุงเทพฯมาแสดง แต่โจทก์ก็หาได้มีหลักฐานดังกล่าวมาแสดงแต่อย่างใดไม่ คงมีแต่ใบเสร็จรับเงินทดรองของนายโบตามเอกสารหมาย จ. 11 นายฮิโรซิเบิกความว่าได้จ่ายเงิน193,000 บาท ผ่านตัวแทนไปออกของแทนโจทก์ นายโบผู้ออกใบเสร็จรับเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจึงเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งโจทก์มิได้นำนายโบมาเบิกความเป็นพยานว่าได้จ่ายเงินให้แก่ใครอย่างไร เมื่อใด จ่ายเงินดังกล่าวไปทั้งหมดหรือไม่ ทั้งๆ ที่จำเลยได้โต้แย้งมาตั้งแต่ต้นว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้าม แม้นางชลลดา ฟูวัฒนศิลป์ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของโจทก์ก็ตามเมื่อโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินจำนวนดังกล่าว ย่อมเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีจากเงินกำไรสุทธิของบริษัทนิจิเมน จำกัดประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 41,144,422.89 บาท ที่โจทก์แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 204 และกำไรสุทธิจำนวน 15,675,881.43 บาท ที่เจ้าพนักงานตรวจพบหรือไม่ เห็นว่า แม้จะฟังว่าบริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นวิสาหกิจในประเทศญี่ปุ่น จะได้กำไรจากการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรง มิได้ขายโดยผ่านโจทก์ซึ่งเป็นสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามที่โจทก์อ้างซึ่งตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เอกสารหมาย จ. 5 และ จ. 10 รัฐบาลไทยไม่อาจบังคับภาษีอากรเงินกำไรนั้น ตามความในข้อ 3 แห่งอนุสัญญาดังกล่าวก็ตาม แต่ในวันเดียวกันกับที่ผู้แทนรัฐบาลไทยกับผู้แทนประเทศญี่ปุ่นได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวนั้น ผู้แทนรัฐบาลไทยได้ทำหนังสือที่ (1603) 6279/2506ลงวันที่ 1 มีนาคม 2506 ถึงผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น และผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำหนังสือที่ 201/38 ลงวันที่1 มีนาคม ค.ศ. 1963 ถึงผู้แทนรัฐบาลไทยตามเอกสารหมาย จ. 5 และ จ. 10 แผ่นที่ 36 ถึง 43 หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวผู้แทนรัฐบาลทั้งสองประเทศแสดงความเข้าใจเกี่ยวกับการตีความ และการปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ตามเอกสารหมาย จ. 5 และ จ. 10 แผ่นที่ 1 ถึงแผ่นที่ 35 โดยเฉพาะสำหรับข้อ 3 วรรค 1 ทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความเข้าใจและตีความตรงกันโดยในวรรค 4 ของหนังสือทั้งสองฉบับมีข้อความเหมือนกันว่า ในการใช้บทของวรรค 1 ของข้อ 3 เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งสถานประกอบการถาวรตั้งอยู่อาจ (ก) ถือว่ากำไรทั้งปวงอันเกิดขึ้นจากกิจกรรมเช่นที่สถานประกอบถาวรได้ประกอบอยู่โดยปกติเกิดจากสถานประกอบการถาวรนั้น และ (ข) ถือว่ากำไรทั้งปวงอันเกิดขึ้นจากกิจกรรมซึ่งสถานประกอบการถาวรสามารถปฏิบัติได้เกิดจากสถานประกอบการถาวรนั้น เว้นไว้แต่จะพิสูจน์ได้ตรงกันข้ามแต่ทั้งนี้เพียงเท่าที่กำไรนั้นมาจากแหล่งภายในรัฐผู้ทำสัญญานั้นเท่านั้น โดยที่หนังสือทั้งสองฉบับข้างต้นทำขึ้นโดยผู้แทนรัฐบาลไทยและผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นโดยทั้งสองประเทศต่างให้สัญญาต่อกันว่า จะตีความและปฏิบัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ ในข้อต่างๆ ที่ระบุไว้นั้นตรงกัน จึงมีลักษณะเป็นสัญญาว่าด้วยการเว้นภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำกับรัฐบาลญี่ปุ่น มีผลใช้บังคับได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ตามหนังสือรับรองของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 1 โจทก์ได้รับหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ คือ บัญชี ค. หมวด 1 (1) การค้าส่งสินค้าทุกชนิดในประเทศไทย (2) การค้าสินค้าส่งออกทุกชนิด (3) การค้าปลีกสินค้าเครื่องจักร เครื่องกล และเครื่องมือ 3 (1) การประกอบธุรกิจบริการรับจ้างติดตั้งซ่อมและให้คำปรึกษาแนะนำด้านเทคนิคเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกลและเครื่องมือ ทั้งโจทก์เป็นสาขาของบริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ตามหนังสือของโจทก์ที่ระบุว่าโจทก์เป็นสาขากรุงเทพฯ เอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 214 ประกอบกับนายซาโตรุ ทานาเบ้ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 57 ได้ให้การต่อนางชลลดาเจ้าพนักงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 122 ถึงแผ่นที่ 123ว่าโจทก์มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการที่สำนักงานใหญ่ขายสินค้าโดยตรงให้ลูกค้าในประเทศไทยซึ่งมีบริษัทนิจิเมน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนแล้ว การที่บริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่นขายสินค้าแก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรง แล้วแบ่งเงินรายได้ให้แก่โจทก์เช่นนี้น่าเชื่อว่า สินค้าที่บริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น จำหน่ายให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยดังกล่าว เป็นสินค้าชนิดเดียวกับที่โจทก์ได้จำหน่ายในประเทศไทย จึงฟังได้ว่าการที่บริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรงหรือโดยมีบริษัทนิจิเมน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนนั้นเป็นกิจกรรมเช่นที่โจทก์ได้ประกอบอยู่โดยปกติและโจทก์สามารถปฏิบัติได้ในประเทศไทย ดังนั้นแม้เงินกำไรที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นกำไรที่บริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้มาจากการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรง ไม่ได้ขายสินค้าโดยผ่านโจทก์ ซึ่งเป็นสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินกำไรที่บริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้จากการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรงนั้นเป็นกิจกรรมเช่นที่โจทก์ซึ่งเป็นสถานประกอบการถาวรได้ประกอบอยู่โดยปกติ และโจทก์สามารถปฏิบัติได้ จึงถือว่ากำไรที่พิพาทกันเป็นกำไรที่เกิดจากโจทก์ตามความในวรรค 4 ของหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าว ประกอบกับข้อ 3 วรรค 1 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นฯ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เอกสารหมาย จ. 5 และ จ. 10 โจทก์จึงต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66 วรรคสอง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีจากกำไรสุทธิดังกล่าวอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้จากการส่งเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้ฟังเป็นอย่างอื่นว่า เงินกำไรของบริษัทนิจิเมน จำกัดประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 56,820,304.32 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล เอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 8 นั้น แม้ลูกค้าในประเทศไทยได้ส่งออกไปจากประเทศไทยไปให้บริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่นโดยตรง แต่เงินกำไรจำนวนดังกล่าวถือว่าเกิดจากโจทก์ ซึ่งเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น จึงเป็นเงินได้ของโจทก์ในประเทศไทย ฉะนั้น เมื่อมีการส่งเงินกำไรดังกล่าวออกจากประเทศไทยในกรณีนี้ แม้ว่าลูกค้าในประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งให้แก่บริษัทนิจิเมน จำกัด ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของโจทก์ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นสาขาเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรนั้นออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน..." พิพากษายืน (ชลอ บุณยเนตร-สันติ ทักราล-เรืองฤทธิ์ ศรีวรรธนะ) |