เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1342/2541 
บริษัท ชินวัตรเพจจิ้ง จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง เงินค่าประกันการใช้บริการ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.รัษฎากรฯ (มาตรา 79))

โจทก์ฟ้องว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถึง 11 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 14 ถึง 22

จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถึง 11 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 14 ถึง 22 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 8270/5/101446 และเลขที่ 8270/5/101447 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2538 กับเลขที่ 8270/5/101468 ถึงเลขที่ 8270/5/101474 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ 8270/5/100042 ถึงเลขที่ 8270/5/100050 ลงวันที่ 28 มกราคม 2540

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันในชั้นพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางว่า โจทก์ได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ให้ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ติดตามตัวระบบดิจิตอล ดิสเพลย์ เพจจิ้ง เป็นเวลา 15 ปี ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ตามสัญญาข้อ 28 ระบุว่า การให้บริการโจทก์จะต้องให้ผู้บริการทำสัญญาใช้บริการโดยมีเงื่อนไขซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก่อน โดยโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการ DDP จากผู้ใช้บริการตามอัตราที่กำหนดไว้ ได้แก่ค่าบริการ ค่าประกันการใช้บริการและค่าจัดให้บริการสำหรับค่าประกันการใช้บริการ โจทก์ต้องคืนให้ผู้ใช้บริการเมื่อเลิกใช้บริการ กรณีที่ผู้ใช้บริการค้างชำระ ค่าใช้บริการอยู่เป็นเงินเท่าใดโจทก์มีสิทธิหักเอาจากเงินประกันการใช้บริการดังกล่าวและต้องคืนเงินส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ใช้บริการ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ และหรือการเปลี่ยนแปลงอัตราการเรียกเก็บเงินทุกประเภทจากผู้ใช้บริการต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนจึงจะดำเนินการได้ เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินค่าประกันการใช้บริการครบทุก 1,000 เครื่อง โจทก็ต้องนำหลักประกันเป็นหนังสือของธนาคารภายในประเทศมอบให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยภายใน 30 วัน นับแต่วันครบจำนวนทุกๆ 1,000 เครื่อง หลักประกันดังกล่าวองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะคืนให้เมื่อโจทก์จ่ายเงินค่าประวันการใช้บริการคืนผู้ใช้บริการครบตามจำนวนที่โจทก์เรียกเก็บภายใน 60 วันนับแต่วันที่สัญญาระหว่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกับโจทก์สิ้นสุดลง

เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินว่าเงินมัดจำการใช้บริการ (เงินค่าประกันการใช้บริการ) ที่โจทก์ได้รับจากผู้ใช้บริการเป็นเงินที่ได้รับจากการให้บริการซึ่งต้องนำมาเป็นฐานภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงแจ้งให้โจทก์นำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 137,057 บาท ไปชำระปรากฏตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.3.1) เลขที่ 8270/5/101446 และเลขที่ 8270/5/101447 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2538 ทั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 26 และ 27 กับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 8270/5/101468 ถึงเลขที่ 8270/5/101474 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 ทั้ง 7 ฉบับตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 49 ถึง 55 ซึ่งตรงกับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 8270/5/101463 ถึงเลขที่ 8270/5/101469 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึง 11 โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่โจทก์เข้าใจผิดในข้อกฎหมายว่าค่ามัดจำการใช้บริการไม่เข้าลักษณะเป็นเงินที่ได้รับจากการใช้บริการจึงให้ลดภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บคงเหลือเรียกเก็บทั้งสิ้นเป็นเงิน 78,142 บาท ปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 8270/5/100042 ถึงเลขที่ 8270/5/100050 ลงวันที่ 28 มกราคม 2540 ทั้งเก้าฉบับตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 19 ถึง 27

พิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า เงินค่าประกันการใช้บริการโทรศัพท์ติดตามตัวซึ่งโจทก์เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการถือเป็นเงินค่าบริการซึ่งต้องนำมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่าประมวลรัษฎากรมาตรา 79 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 79/1 ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ถ้ามีด้วย

มูลค่าของฐานภาษีให้หมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทนค่าบริการหรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคำนวณได้เป็นเงิน

ฯลฯ"

และตามมาตรา 77/1 บัญญัติว่า "ในหมวดนี้เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

 

(10) บริการ หมายความว่าการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเองไม่ว่า ประการใด ๆ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง

(ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

(ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคาร หรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์

(ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

(11)..............

ฯลฯ"

เงินค่าประกันการใช้บริการมีลักษณะเป็นเงินที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ตลอดระยะเวลาที่ผู้ใช้บริการยังคงใช้บริการโทรศัพท์ตามสัญญาที่มีอยู่กับโจทก์อาจนำไปหาประโยชน์อันมีมูลค่าได้ เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนให้ผู้ใช้บริการเมื่อเลิกใช้บริการเท่านั้น แม้กระนั้นการคืนก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะมีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าใช้บริการอยู่ เงินดังกล่าวจึงต้องถือเป็นเงินค่าบริการซึ่งต้องนำมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร อาจมีข้อฉงนว่าหากในภายหลังโจทก์ต้องคืนเงินค่าประกันการใช้บริการดังกล่าวจะเกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อเงินนั้นถูกนำไปรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีแล้วข้อสงสัยนี้น่าจะหมดไปได้ เพราะในกรณีดังกล่าวโจทก์อาจบรรเทาภาระภาษีได้ เช่น อาจนำเงินค่าประกันการใช้บริการที่ต้องคืนไปคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น"

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

(สมศักดิ์ วงศ์ยืน - ยงยุทธ ธารีสาร - ชลอ บุณยเนตร)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021