คำพิพากษาฎีกาที่1199/2541 | |
บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การประเมิน | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 16 31 32 88 88/2 88/4 | |
คู่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้เป็นเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 16 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรเฉพาะประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ และผู้ต้องเสียภาษีอากรอุทธรณ์เท่านั้น จะไปตั้งประเด็นใหม่นอกเหนือไปจากประเด็นเดิมที่ เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินหาได้ไม่ ส่วนการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจทำการไต่สวนและเรียกพยานมาตรวจสอบเพิ่มเติมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 32 และยังมีอำนาจในการวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 31 วรรคสอง นั้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีอำนาจดำเนินการดังกล่าวได้ต้องเป็นการดำเนินการในประเด็นเดียวกับที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินไว้ด้วย คดีนี้หลังจากโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์และพฤษภาคม 2535 ต่อเจ้าพนักงานประเมินแล้ว เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการตรวจสอบเห็นว่า แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่โจทก์ยื่นไว้นั้นถูกต้อง แต่โจทก์คำนวณภาษีในอัตราร้อยละเจ็ดของยอดขายและยอดซื้อในเดือนภาษีกุมภาพันธ์และพฤษภาคม 2535 ไม่ตรงกับตัวเลขตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ปรับปรุงการคำนวณภาษีแล้วประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์ในเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2535 เป็นเงิน 10,825.-บาท และเดือนภาษีพฤษภาคม 2535 เป็นเงิน 33 บาท ส่วนในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับเห็นว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวไม่ถูกต้อง และเมื่อตรวจสอบใบกำกับภาษีซื้อแล้วโจทก์ได้นำใบกำกับภาษีขายและใบกำกับภาษีซื้อในเดือนภาษีอื่นนำมาเครดิตภาษีในเดือนภาษีกุมภาพันธ์และพฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องขัดกับมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ววินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มในเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2535 เป็นเงิน 25,585.01 บาท ส่วนเดือนภาษีพฤษภาคม 2535 ให้ปลดภาษีที่จะต้องชำระตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเสีย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องใหม่ที่ในชั้นตรวจสอบเจ้าพนักงานประเมินมิได้ตั้งประเด็นไว้ในการไต่สวนเพื่อทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 88, 88/2 และ 88/4 โจทก์จึงไม่มีโอกาสชี้แจงแสดงหลักฐานและอุทธรณ์โต้แย้งตามลำดับขั้นตอนได้ การที่เจ้าพนักงานของจำเลยผู้พิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์กลับไต่สวนเสียเอง แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีตามที่ได้ความจากพยานหลักฐานที่ไต่สวนในประเด็นอื่นที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้มีคำสั่งไว้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้เพราะผู้มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเด็นดังกล่าวได้นั้น คือ เจ้าพนักงานประเมินเท่านั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 แห่งประมวลรัษฎากร |