คำพิพากษาฎีกาที่163/2541 | |
บริษัท เอ็ม.เอส. ไลอ้อน จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง จ้างทำของ (มาตรา 587) ป. รัษฎากร (มาตรา 3 เตรส, 28, 30, 40(7)) | |
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เลขที่1104/1/100579 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2537 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ 246/2539/1 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2538 เฉพาะรายการจ่ายค่าซื้อรองเท้าคิดเป็นภาษีและเงินเพิ่มรวมจำนวน 1,960,346 บาท โดยให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 6,345.20บาท และเงินเพิ่ม (คำนวณถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2537)จำนวน 5,005.03 บาท รวมเป็นเงิน11,350.23 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องนำส่ง (6,345.20บาท)นับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องนำส่งคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2537 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย โดยให้โจทก์ชำระค่าภาษีดังกล่าวรวมเป็นเงิน 2,701,023.23 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 7 และ 6 ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 24 ถึง 41 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยให้ลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่6 และ 4 ตามลำดับ คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินหรือไม่ เห็นว่า คำอุทธรณ์ของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 24 ถึง 41 นั้น โจทก์ขอให้ยกเลิกการประเมิน และของดหรือลดเบี้ยปรับโดยให้เหตุผลว่า ในการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินกระทำไปโดยถือความเข้าใจและความรู้สึกของตนเองเป็นเกณฑ์ หากมีกรณีความเห็นไม่ตรงกันก็จะใช้คำถามนำและใช้คำพูดในเชิงใช้อำนาจ อันเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมสรรพากรพร้อมทั้งโจทก์ได้ยื่นหนังสือแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินมาพร้อมด้วย ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ก็ได้วินิจฉัยคำอุทธรณ์ให้โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ประการต่อไปเกี่ยวกับข้อที่ว่า โจทก์เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ในชั้นนี้คงโต้แย้งกันเฉพาะเรื่องรายจ่ายที่โจทก์จ่ายให้แก่โรงงานที่ผลิตรองเท้าส่งให้โจทก์เท่านั้น ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนายวีระชัย วงศ์บุญสิน กรรมการผู้จัดการของโจทก์และนายวีระพงศ์ เธียรปัญญา พยานโจทก์ว่า โจทก์ประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าประเภทรองเท้าจากโรงงานผู้ผลิตแล้วส่งไปขายยังต่างประเทศโดยทางโรงงานจะนำรองเท้าตัวอย่างพร้อมราคามาแจ้งให้โจทก์ทราบ จากนั้นโจทก์จะนำรองเท้าตัวอย่างดังกล่าวไปเสนอขายในต่างประเทศพร้อมกับบวกราคาเพิ่มขึ้น หากผู้ซื้อในต่างประเทศพอใจก็จะสั่งซื้อจากโจทก์ แล้วโจทก์จึงจะสั่งซื้อจากโรงงานผู้ผลิตอีกทอดหนึ่งตามที่ลูกค้าในต่างประเทศต้องการ โดยโจทก์จะเป็นผู้จัดส่งสินค้าดังกล่าวไปให้แก่ลูกค้าโดยตรง เห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวคงมีแต่คำเบิกความลอยๆ ของพยานโจทก์ทั้งสองเท่านั้น โจทก์มิได้นำบุคคลใดในโรงงานผู้ผลิตรองเท้าให้โจทก์มาเบิกความเพื่อสนับสนุนให้สมตามคำอ้าง ทั้งในชั้นตรวจสอบโจทก์ก็ไม่สามารถนำมาให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานประเมินได้เช่นกัน นอกจากนี้ตามคำให้การของนายวีระพงศ์ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาให้ปากคำในชั้นตรวจสอบตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 99 ถึง100 ก็ยอมรับว่า เมื่อโจทก์ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าในต่างประเทศต้องการ หาใช่เป็นกรณีที่โรงงานได้ผลิตรองเท้าไว้แล้วเพื่อขายให้โจทก์โดยตรงไม่ประกอบกับในเอกสารบางรายการของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.10, ล.13, ล.17, ล.19, ล.21, ล.23, ล.24, ล.25, ล.26, ล.27 และ ล.30 ซึ่งนายวีระชัยเบิกความยืนยันว่า ตามเอกสารดังกล่าวได้มีการลงไว้ว่าเบิกเงินล่วงหน้าย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการจ่ายเงินค่าจ้างทำรองเท้าให้แก่โรงงานผู้ผลิตล่วงหน้า มิใช่เป็นค่ามัดจำตามสัญญาซื้อขายดังที่นายวีระชัยเบิกความถึง เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ต้องระบุไว้เป็นหลักฐานโดยชัดแจ้งในเอกสารนั้นว่าเป็นเงินค่ามัดจำ และยังได้ความจากคำเบิกความของนายวีระพงศ์ อีกว่าโจทก์ยังมีรายจ่ายค่ามีดบล็อกตามเอกสารหมาย ล.21 แผ่นที่ 71 ถึง 84 ซึ่งตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่า โจทก์มีโรงงานผลิตสินค้าของตนเอง จึงเจือสมตามข้ออ้างของนางสาวสมจิตร วุฒิปวัฒน์พยานจำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีของโจทก์ว่า โจทก์ซื้อมีดบล็อกดังกล่าวให้แก่โรงงานผู้ผลิตรองเท้าให้โจทก์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำรองเท้า ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างสั่งให้โรงงานผู้รับจ้างผลิตรองเท้าตามที่โจทก์กำหนด กรณีจึงเป็นเรื่องจ้างทำของ หาใช่เป็นเรื่องซื้อขายแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2521 และ 1616/2526 ที่ศาลภาษีอากรกลางอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ให้แก่โรงงานผลิตรองเท้าผู้รับจ้างทำของ และนำส่งไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 8 ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะในส่วนนี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น" พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด (สุนทร สิทธิเวชวิจิตร - สันติ ทักราล - ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์) |