คำพิพากษาฎีกาที่162/2541 | |
บริษัท ซีบา-ไกกี้ (ประเทศไทย) จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (1), 65 ทวิ, 65 ตรี (12) | |
ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(12)ที่บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำผลขาดทุนสิทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันมาหักเป็นรายจ่ายได้นั้น ตามแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ของโจทก์ปรากฏว่าผลขาดทุนสิทธิยกมา ไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (12) อยู่ในรายการที่ 5 (47) ว่าด้วยรายได้รายจ่ายและกำไรหรือขาดทุนสุทธิ แต่ผลขาดทุนสะสมจำนวน 11,849,473.86 บาท ที่เจ้าพนักงานของจำเลยนำมาถือเป็นผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5ปีนำมาปรับปรุงหักเป็นรายจ่ายให้แก่โจทก์ในการคำนวณกำไรขาดทุนสิทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 นั้นอยู่ในรายการที่ 6(13) ว่าด้วยหนี้และทุน จึงเห็นได้ว่าเป็นการแยกต่างหากออกจากกันคนละรายการและเป็นคนละเรื่อง ทั้งในรายการที่ 5(47) ก็ระบุเฉพาะแต่ผลขาดทุนสุทธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่างกับรายการที่ 6(13)ได้ระบุถึงผลกำไรสะสมหรือขาดทุนสะสมคือมีทั้งกำไรหรือขาดทุน รายการที่ 6(13) นี้จึงเป็นเรื่องหนี้สินและทุนที่ยกมาทางบัญชี ผลขาดทุนสะสมตามรายการที่ 6(13) จึงมิใช่ผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรเพราะผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรนั้นต้องคำนวณตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี ซึ่งตามแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 ของโจทก์ก็ระบุว่าโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 จำนวน 18,571,825.52 บาท อันเป็นผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรนั้น ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยนำยอด 11,849,473.86 บาท ที่โจทก์ระบุในรายการที่ 6(13) อันเป็นผลขาดทุนสะสมทางบัญชีมาถือเป็นผลขาดทุนสะสม ยกมา ไม่เกิน 5 ปี และนำมาปรับปรุงหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 2528 ของโจทก์นั้นจึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 50(1) โจทก์จะมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่พนักงาน แต่กฎหมายดังกล่าวก็มิได้บังคับให้โจทก์มีหน้าที่ขอหลักฐานการชำระเบี้ยประกันชีวิตและดอกเบี้ยดังกล่าวจากพนักงานเพื่อนำมาแสดงต่อจำเลย อีกทั้งหลักฐานการชำระเบี้ยประกันชีวิตและดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหลักฐานที่บุคคลภายนอกออกให้แก่พนักงานโจทก์เพื่อเก็บไว้ใช้อ้างอิง มิใช่หลักฐานที่ออกให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เก็บหลักฐานดังกล่าวไว้แสดงต่อจำเลย หากจำเลยสงสัยว่าหลักฐานดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่ จำเลยก็สามารถเรียกพนักงานโจทก์มาสอบปากคำหรือทำการตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่พนักงานโจทก์ยื่นไว้แล้วต่อจำเลยได้.์ พิพากษายืน์ (สุชาติ ถาวรวงศ์ - สันติ ทักราล - ชลอ บุณยเนตร) |