เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่103/2541 
กรมสรรพากร โจทก์

บริษัท พวณิชย์เคหะภัณฑ์ จำกัด

จำเลย
เรื่อง เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป. รัษฎากร (มาตรา 71(1), 86 เบญจ, 87 ทวิ, 87 ตรี)

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้แสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับ รอบระยะเวลาบัญชี ปี 2527 และปี 2528 ภาษีการค้า ปี 2526 ปี 2527 และปี 2528 ไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียก เพื่อตรวจ สอบไต่สวนการเสียภาษีดังกล่าว จำเลยไม่มาพบตามหมายเรียกและไม่นำ บัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบตาม มาตรา 19แห่งประมวลรัษฎากรเจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินรายได้ตาม หลักการกำหนดรายรับขั้นต่ำ และให้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ของจำเลยในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ กับให้ จำเลยชำระภาษีการค้าเพิ่มพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมทั้งภาษีบำรุง ท้องถิ่น แต่จำเลยมิได้นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระและมิได้อุทธรณ์การประเมิน ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรจำนวน 474,938.21 บาท แก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงาน ประเมินสำหรับภาษีการค้าและภาษีตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร และให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับ ภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2527 และปี 2528 โดยให้ จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 เพิ่ม จำนวน 27,946.91 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือ เศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนด เวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือวันนำส่งภาษีแต่เงินเพิ่ม ที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งและให้จำเลยชำระภาษี เงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2528 จำนวน 29,644.30 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ ต้องเสียหรือนำส่งโดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่ง ภาษีจนถึงวันชำระหรือวันนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวน ภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็น นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เริ่มประกอบกิจการวันที่ 8 มีนาคม 2525 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 49 ถึง 51 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2526จำเลยถูกเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า เดือนละ 87,000 บาทโดยให้จำเลยยื่นแบบแสดงรายการการค้าแสดงราย รับดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน 2526 เป็นต้นไป ตามหนังสือที่ กค. 0825/2525 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 98 จำเลยมิได้โต้แย้งการกำหนด รายรับขั้นต่ำข้างต้น ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่า จำเลยยื่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 และปี 2528 กับภาษีการค้าตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนธันวาคม 2526 เดือน มกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2527 เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนธันวาคม 2527 และเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2528 มีรายได้ต่ำกว่าราย รับขั้นต่ำที่เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดและในเดือนกรกฎาคม ถึงเดือน ธันวาคม 2528 จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ เจ้าพนักงาน ประเมินจึงมีหมายเรียกให้จำเลยมาทำการตรวจสอบ แต่จำเลยไม่ยอมมาพบ และไม่นำบัญชี ปี 2527 และปี 2528 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ให้ใช้รายรับขั้นต่ำที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด ไว้ถือเป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยส่วนภาษีการค้านั้น เจ้าพนักงานประเมินได้นำรายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้มาคำนวณ จากนั้นเจ้า พนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ ตามหนังสือ แจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 14 ถึง 17 และ 53 ถึง 54 แต่จำเลยไม่ยอมนำเงินค่าภาษีอากร ไปชำระให้แก่โจทก์และมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ คดีมีปัญหาตามที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าเจ้าพนักงาน ประเมินของโจทก์อาศัยอำนาจตามมาตรา 87 ทวิ (7) แห่งประมวลรัษฎากร มีอำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำสำหรับกิจการค้าของจำเลยเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า เดือนละ 87,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 87 ทวิ (7) นั้น บัญญัติ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าที่มิได้ ยื่นแบบแสดงรายการการค้าภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือยื่นแบบแสดง รายการการค้าไว้ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสีย คลาดเคลื่อนไปหรือผู้ประกอบการค้าหรือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการ ค้าแทนผู้ประกอบการค้าไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือไม่ยอมตอบคำถามของ เจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 87 ทั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบการค้า ชำระภาษีการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าในเดือนที่ ล่วงมาแล้ว ซึ่งหมายถึงในเดือนที่ถึงกำหนดชำระแล้ว เจ้าพนักงานประเมิน ได้ตรวจสอบพบภายหลังเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดรายรับโดย อาศัยหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 87 ทวิ (7) เพื่อใช้เป็นฐานในการ ประเมินภาษีการค้าในเดือนที่ล่วงมาแล้ว หรือที่ถึงกำหนดชำระแล้วนั้นได้ หาใช่เป็นบทบัญญัติที่อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำ ไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าในเดือนที่ผู้ ประกอบการการค้ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าไม้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดรายรับขั้นต่ำ ไว้ในวันที่ 29 มีนาคม 2526 โดยให้จำเลยยื่นแบบแสดงรายการการค้า แสดงรายรับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 87,000 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน2526 เป็นต้นไป จึงเป็นการกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นฐานในการ คำนวณภาษีการค้าให้จำเลยชำระ เป็นการขัดต่อมาตรา 87 ทวิ (7) ประกอบกับในขณะเกิดเหตุคดีนี้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 25 ที่บัญญัติเพิ่มเติม มาตรา 86 เบญจ ยังไม่ใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 86 เบญจ เป็นเรื่องให้อำนาจแก่เจ้า พนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดยื่นแบบ แสดงรายการการค้าเพื่อเสียภาษีการค้าของผู้ประกอบการค้าบางประเภทไว้ หาใช่เป็นเรื่องที่ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของผู้ ประกอบการค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกเจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินตามที่เห็น สมควร และตามหลักฐานเท่าที่มีอยู่คือตามที่ได้กำหนดรายรับขั้นต่ำนั้น เห็นว่า การที่ผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป เจ้าพนักงาน ประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ประกอบการค้ามาตรวจสอบไต่สวนได้ ตามมาตรา 87 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อผู้ประกอบการค้าไม่ปฏิบัติ ตามหมายเรียกเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมิน ตามมาตรา 87 (3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เจ้าพนักงานประเมินต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ บัญญัติไว้ในมาตรา87 ทวิ (7) เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการ ประเมินโดยอาศัยยอดรายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ล่วงหน้าโดยมิชอบดังกล่าว เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าที่จำเลยจะต้องชำระจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87 ทวิ (7) การประเมินของเจ้าพนักงาน ประเมินจึงไม่ชอบอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการกำหนดรายรับขั้นต่ำและมิได้อุทธรณ์การ ประเมิน การประเมินดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ จำเลยต้องรับผิดชำระภาษี เงิน เพิ่มและเบี้ยปรับตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกเก็บ เห็นว่าการที่ จำเลยได้รับแจ้งการกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ล่วงหน้าจากเจ้าพนักงานประเมิน แล้วไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยยอมรับการกำหนดรายรับขั้น ต่ำที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดไว้ว่าถูกต้อง เนื่องจากการกำหนดรายรับ ขั้นต่ำของเจ้าพนักงานประเมินกระทำไปโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วย กฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยจึงไม่จำต้องโต้แย้งคัดค้านและอุทธรณ์ การประเมินแต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน ของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ จำเลยในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2527 และปี 2528 ที่เจ้าพนักงานประเมินนำ รายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้มาคำนวณเป็นฐานเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการชอบหรือ ไม่นั้นเห็นว่า มาตรา 71 (1) ซึ่งบัญญัติว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ใดไม่ยื่นรายการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วน นี้หรือมิได้ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ หรือไม่นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำ การไต่สวนตามมาตรา19 หรือมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน ภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อน หักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ถ้ายอด รายรับก่อนหักรายจ่ายหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ปรากฏ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยอาศัยเทียบเคียงกับยอดในรอบระยะ เวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป ถ้ายอดในรอบระยะบัญชีก่อนไม่ปรากฏให้ประเมิน ได้ตามที่เห็นสมควร" ตามมาตราดังกล่าวหาได้กำหนดให้นำมาตรา 87 ทวิ (7) แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับด้วยไม่ ทั้งรายรับขั้นต่ำของจำเลยตามที่ เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดไว้เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัย มาแล้ว ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินให้ถือเอารายรับขั้นต่ำที่ได้กำหนด ไว้สำหรับกิจการของจำเลยเพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีการค้ามาเป็น ยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ นั้นไม่ต้องด้วย มาตรา 71 (1) จึงเป็นการ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามมาตราดังกล่าวได้กำหนดขั้นตอนเป็นลำดับ ไว้อย่างชัดแจ้งแล้วหากเจ้าพนักงานประเมินไม่อาจตรวจสอบรายได้ของจำเลย ที่แท้จริงได้ เห็นว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำรายรับของจำเลยที่ได้ระบุ ไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2527 มาเป็นยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของจำเลยแล้วคำนวณภาษีที่จำเลย จะต้องเสียสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 และปี 2528 ตามมาตรา 71(1) จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษายืน

(สุนทร สิทธิเวชวิจิตร - ยงยุทธ ธารีสาร - เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021