คำพิพากษาฎีกาที่41/2541 | |
นางมาลี ศรีอยู่พุ่ม หรือจตุรโกมล | โจทก์ |
นายสำราญ แสงดาว กับพวก | จำเลย |
เรื่อง ยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหน | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง กู้ยืมเงิน (มาตรา 653) วิธีพิจารณาความแพ่ง ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม (มาตรา 161) ป. รัษฎากร (มาตรา 118) | |
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินและรับเงินจากโจทก์ไปจำนวน 200,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 54595 พร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อโจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท และให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน วันที่ 10 พฤษภาคม 2532 จำเลยทั้งสองทำสัญญาเพิ่มวงเงินกู้และวงเงินจำนองอีกจำนวน 350,000 บาทวันที่ 20 กันยายน 2532 จำเลยทั้งสองทำสัญญาเพิ่มวงเงินกู้และวงเงินจำนองอีกจำนวน 50,000 บาท วันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 จำเลยทั้งสองทำสัญญาเพิ่มวงเงินกู้และวงเงินจำนองอีกจำนวน อีกจำนวน 220,000 บาทและวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 จำเลยทั้งสองทำสัญญาเพิ่มวงเงินกู้และวงเงินจำนองอีกจำนวน 396,000 บาทรวมเป็นต้นเงินกู้และวงเงินจำนอง 1,416,000 บาท หลังจากเพิ่มวงเงินกู้และวงเงินจำนองครั้งสุดท้ายแล้วจำเลยทั้งสองไม่ติดต่อกับโจทก์และไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,840,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,416,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระก็ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,416,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระก็ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 54595 ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดตลอดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "..จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า จำเลยทั้งสองขอต่อสู้ว่าโจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ในเอกสารที่ประสงค์ให้เป็นสัญญากู้ยืมเงินจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งสัญญากู้ยืมเงินตามประมวลรัษฎากรจะต้องปิดอากรแสตมป์คดีนี้โจทก์ได้ถ่ายสำเนาและรับรองความถูกต้องโดยเจ้าพนักงานที่ดินของสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2530 ซึ่งเป็นเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าได้ถ่ายภาพมาจากต้นฉบับสัญญาจำนองของฉบับสำหรับสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีซึ่งไม่ปรากฏดวงตราอากรแสตมป์หรือข้อความว่าได้ปิดอากรแสตมป์แล้ว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าต้นฉบับได้ปิดอากรแสตมป์แล้วจึงขัดกับเหตุผลและข้อเท็จจริงตามเอกสารกับคำเบิกความของพยานโจทก์ ส่วนอากรแสตมป์ในราคาดวงละ 5 บาท ที่ผนึกในสัญญาขึ้นเงินจำนองแต่ละครั้งนั้นเป็นค่าอากรแสตมป์คู่ฉบับเอกสาร มิได้เป็นอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด อีกทั้งสัญญาขึ้นเงินจำนองแต่ละครั้งไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรข้อ 5 แล้ว ตามระเบียบของกรมที่ดินที่จำเลยทั้งสองได้ส่งท้ายคำอุทธรณ์ คำพิพากษาของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในสำนวนคดีนี้ ดังนั้นเพียงแต่คำเบิกความลอยๆ ของพยานโจทก์ว่าต้นฉบับได้ปิดอากรแสตมป์แล้ว โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างถึงมูลแห่งหนี้โจทก์มีหน้าที่ที่จะนำสืบ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบว่าต้นฉบับได้ปิดอากรแสตมป์แล้วจริง เอกสารดังกล่าวจึงไม่ควรรับฟังว่าเป็นสัญญากู้ยืมเงินนั้นเห็นว่า หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและบันทึกข้อตกลงเรื่องขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1ถึงครั้งที่ 5 เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.6 ถูกอ้างในฐานะเป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินอันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แต่อย่างใด ศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น... สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งสองที่ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วน ดังนั้น จำเลยทั้งสองไม่ควรต้องรับผิดชดใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 3,500 บาท แก่โจทก์นั้น เห็นว่า จำนวนเงินค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุจพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุจพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้คดีหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้เมื่อจำเลยทั้งสองอุทธรณ์มาหลายข้อซึ่งส่วนมากฟังไม่ขึ้นคงฟังขึ้นเพียงข้อเดียว ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วนเฉพาะที่ให้ยกคำขอที่ว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบเท่านั้นนอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งหมด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,500 บาท แทนโจทก์จึงเป็นการสมควรแล้วฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น" (ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ - พิมล สมานิตย์ - กนก พรรณรักษา) |