เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8123/2540 
บริษัท นิจิเมน จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(1), 79, 82/4

โจทก์ทำสัญญารับจ้างพิมพ์ตราไปรษณียากรกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตกลงกันระบุว่า "ผู้รับจ้างตกลงรับทำการตามที่กำหนดดังกล่าวในสัญญาข้อ 1 โดยคิดค่าจ้างเป็นเงินทั้งสิ้น 5,950,000 บาท เป็นราคารวมทั้งค่าสัมภาระ ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายทุกอย่างในการดำเนินการให้แก่ผู้ว่าจ้างจากสถานที่พิมพ์จนถึงเรือกรุงเทพฯ และค่าขนส่งจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนถึงสำนักงานของผู้ว่าจ้างด้วย" การสื่อสารแห่งประเทศไทยจะชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ 3 งวด จากจำนวนเงินค่าจ้างทั้งหมด 5,950,000 บาท โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทยต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงินงวดละ 1,983,333.33 บาท ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทำของหรือสัญญาให้บริการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 และประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (1) แม้ต่อมาโจทก์จะได้ตกลงกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยใหม่ต่างกับสัญญาที่ทำไว้เดิม โดยให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าตราไปรษณียากรที่โจทก์พิมพ์ และเป็นผู้ชำระราคา ซี.ไอ.เอฟ. จำนวน 1,655,641 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 115,894.48 บาท ก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวโจทก์เป็นผู้ชำระแทนการสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยโจทก์ยังคงรับเงินค่าจ้างจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยในงวดแรกเป็นเงิน 1,983,333.33 บาท ตรงตามสัญญาเดิมที่โจทก์กับการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ทำไว้ต่อกัน การที่โจทก์ได้รับค่าจ้างพิมพ์ตราไปรษณียากรจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยในงวดแรกตามสัญญาเดิม โดยราคาสินค้าตามราคา ซี.ไอ.เอฟ. จำนวน 1,655,641 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 115,894.48 บาท สำหรับการนำเข้าสินค้าตามหลักฐานที่กรมศุลกากรออกให้แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทยนั้น ในทางพฤตินัยการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าตราไปรษณียากรแทนโจทก์ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาค่าสินค้าตราไปรษณียากรพร้อมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนเงินตามหลักฐานที่กรมศุลกากรออกให้อยู่นั้นเอง จึงเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่ว่านี้มิใช่ราคาค่าจ้างหรือค่าบริการที่โจทก์ได้ทำการตกลงกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยใหม่ดังที่โจทก์อ้างแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างหรือค่าบริการในการนำเข้าตราไปรษณียากรจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยในครั้งนี้เป็นเงิน 1,983,333.33 บาท ตรงตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย เงินจำนวนนี้เป็นมูลค่าที่โจทก์ได้รับจากการให้บริการจึงเป็นฐานภาษีสำหรับการให้บริการที่โจทก์จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับบริการ คิดเป็นภาษีขายจำนวน 138,833.33 บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 และมาตรา 82/4 การที่โจทก์เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยจากฐานภาษีจำนวน 327,692.33 บาท (1,983,333.33-1,655,651) คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) จำนวน 22,938.46 บาท นั้น เป็นผลให้ภาษีขายของโจทก์ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐได้รับภาษีขาดไปเป็นจำนวนเงิน 115,894.48 บาท (138,833.33-22,938.46) ดังที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมินจริง การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021