คำพิพากษาฎีกาที่8042/2540 | |
นายวิโรจน์ อนันต์กิตติกุล ที่ 1 กับพวก | โจทก์ |
กรมสรรพากร กับพวก | จำเลย |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 52, 16, 40(8) | |
แม้ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 10) จะกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีเงินได้จาก การขายอสังหาริมทรพย์ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งไว้ตามกฎหมายตามมาตรา 52 แห่ง ประมวลรัษฎากร เท่านั้น การรับเงินค่าภาษีและออกใบเสร็จรับเงินไว้ดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานประเมินที่ทำการประเมินภาษีโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ยื่นแบบแสดง รายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) สำหรับปี 2533 แสดงเงินได้จากการขายที่ดิน โดยระบุว่ามิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร และขอหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 92 ของเงินได้ แต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ภ.ง.ด.90 ของโจทก์ทั้งหก และการชำระภาษีเพิ่มยังไม่ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 พิจารณาเห็นว่า การขายที่ดินดังกล่าวเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 92 จึงไม่ชอบ และการขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มิได้ระบุไว้ ในมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 จึงต้องหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงได้ประเมินภาษีและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ทั้งหกโดยชอบแล้ว การประเมินภาษีโจทก์ทั้งหกจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว |