เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7129/2540  
บริษัท ชินวัตรเพจจิ้ง จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง เพิกถอนประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากเงินค่าประกัน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร (มาตรา 77/1,78/1,79,82/3,82/ 10,86/10)

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและแบบเปรียบเทียบกำหนดค่าปรับ พร้อมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 2037/102331,102332,102333 ทั้งหมด และเพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 2037/5/102651 102652 เฉพาะส่วนที่ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากค่าประกันการใช้บริการ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียงข้อเดียวว่า เงินค่าประกันการใช้บริการซึ่งลูกค้าจ่ายให้แก่โจทก์ถือเป็นเงินค่าบริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า เงินค่าประกันการใช้บริการซึ่งโจทก์จัดเก็บจากผู้ใช้บริการนั้น แม้โจทก์จะต้องเรียกเก็บเนื่องจากมีข้อผูกพันที่โจทก์ได้ให้ไว้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์ติดตามตัวระบบ DIGITAL DISPLAY PAGING ก็ตาม แต่การเรียกเก็บเงินดังกล่าวจากผู้ใช้บริการก็เรียกเก็บในฐานะเป็นคู่สัญญากับโจทก์ หากผู้ใช้บริการไม่ชำระเงินค่าประกันการใช้บริการให้แก่โจทก์ โจทก์ก็จะไม่ให้บริการและหากผู้ใช้บริการยังค้างชำระค่าบริการอยู่เมื่อเลิกสัญญาการให้บริการโจทก์ก็สามารถหักจากเงินค่าประกันการใช้บริการดังกล่าวและถ้ามีเงินเหลือจึงจะคืนให้แก่ผู้ใช้บริการหรือหากผู้ใช้บริการไม่ค้างชำระค่าบริการก็จะคืนเงินทั้งจำนวนให้แก่ผู้ใช้บริการ ดังนี้ เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จัดเก็บเพื่อประโยชน์ของโจทก์ และจัดเก็บในขณะที่ผู้ใช้บริการเริ่มขอใช้บริการและหากไม่ชำระโจทก์ก็จะไม่ให้บริการดังนั้น การเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์จากการที่โจทก์ให้บริการ เงินจำนวนดังกล่าวจึงถือเป็นเงินค่าบริการตามความหมายของคำว่า "บริการ" ตามมาตรา77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า "บริการ" หมายความว่าการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้ความหมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใด ๆ ..." เมื่อเงินค่าประกันการใช้บริการดังกล่าวถือว่าเป็นค่าบริการส่วนหนึ่งและโจทก์ได้เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการขณะเมื่อเริ่มขอใช้บริการ โจทก์จึงต้องนำเงินจำนวนที่เรียกเก็บดังกล่าวเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ได้รับค่าบริการ ดังนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของเงินค่าประกันการใช้บริการในขณะที่มีการจัดเก็บเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้ใช้บริการตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ต้องคำนวณและเรียกเก็บดังกล่าวถือเป็นภาษีขายของโจทก์ ซึ่งโจทก์ต้องนำไปคำนวณเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร อนึ่งเมื่อเลิกสัญญาการใช้บริการโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าประกันการใช้บริการให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งจำนวนหรือส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้บริการที่ค้างชำระแล้ว โจทก์สามารถออกใบลดหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 86/10 และ 82/10 แห่งประมวลรัษฎากรและนำใบลดหนี้ซึ่งปรากฏภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือค่าบริการที่ลดลงนั้นมาหักออกจากภาษีขายของโจทก์ในเดือนภาษีที่ได้ออกใบลดหนี้ดังกล่าวขณะเดียวกันผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้มาหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้นั้น ดังนั้น ที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าเงินค่าประกันการใช้บริการซึ่งลูกค้าจ่ายให้แก่โจทก์ถือเป็นเงินค่าบริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากรจึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากเงินค่าประกันการใช้บริการ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
(จำลอง สุขศิริ - สันติ ทักราล - ณรงศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021