โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการเขต 8 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยกู้เงินผู้เสียหายจำนวน 300,000 บาท เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 โดยสัญญาว่าจะชำระเงินกู้ให้แก่ผู้เสียหายภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2536 และจำเลยออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ 28 ตุลาคม 2536สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท มอบให้ผู้เสียหายไว้ ผู้เสียหายนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของผู้เสียหายที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาถนนเจ้าฟ้า เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2537 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.3 โดยในวันที่ 28 ตุลาคม 2536 จำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีจำนวน 2,187.95 บาท และในวันที่ 4 มีนาคม 2537 จำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีจำนวน 4,291.95 บาท ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2536 แม้ผู้เสียหายได้รับเช็คดังกล่าวในวันที่ 28 เมษายน 2536 หรือหลังจากนั้นก็ตามก็ถือได้ว่าวันที่ 28 ตุลาคม 2536 เป็นวันออกเช็ค มิใช่วันที่ 28 เมษายน 2536 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย เมื่อจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ผู้เสียหายตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2536 ชำระหนี้ให้ผู้เสียหาย เมื่อเช็คถึงกำหนดผู้เสียหายนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แล้ว นั้น เห็นว่า วันออกเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ดังกล่าว คือวันที่ลงในเช็ค ส่วนวันที่เขียนเช็คหาใช่วันที่ออกเช็คไม่ ฉะนั้น วันออกเช็คในคดีนี้คือวันที่ 28 ตุลาคม 2536 ตามที่โจทก์ฎีกาอย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ในวันดังกล่าวจำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คได้ โดยจำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีจำนวนเพียง2,187.95 บาท และธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้วก็ตาม แต่การออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ของจำเลยจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ก็ต่อเมื่อจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย จึงต้องพิจารณาได้ความว่า มีหนี้ที่จะต้องชำระก่อนและหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมายและได้มีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวนั้นด้วย สำหรับการกู้ยืมเงินนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้าไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยกู้เงินจำนวน 300,000 บาท จากจากผู้เสียหายตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 แลหะมอบเช็คเอกสารหมาย จ.2 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท ชำระหนี้ดังกล่าวให้ผู้เสียหายนั้น นางสุวรรณี งานทวี ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายได้ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ก่อนแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าว และศาลฎีกาได้พิเคราะห์หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว ก็ปรากฏว่าแม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินนั้นมีการติดอากรแสตมป์แต่ก็ไม่ได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์แต่อย่างใด ซึ่งในเรื่องการปิดอากรแสตมป์นั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว..." และมาตรา 103 อธิบายว่า "ปิดแสตมป์บริบูรณ์" หมายความว่า(1) ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือการได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว" ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 อันเป็นตราสารที่โจทก์อ้างเป็นพยานได้ปิดอากรแสตมป์แล้วแต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์จึงต้องถือว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนี้เงินกู้ยืมระหว่างจำเลยและโจทก์มีจำนวนมากกว่าห้าสิบบาทและฟังไม่ได้ว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้เช่นนี้ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น ที่จำเลยออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2536 มอบให้ผู้เสียหายนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ตามจำนวนเงินตามเช็คดังกล่าวแก่ผู้เสียหายอยู่และออกเช็คนั้นชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อหนี้นั้นไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน (อัครวิทย์ สุมาวงศ์ - ธวัชชัย พิทักษ์พล - ไพฑูรย์ แสงจันทร์เทศ) |