กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง ตีความสัญญา ประนีประนอมยอมความ (มาตรา 368, 850) ป.รัษฎากร (มาตรา 91/2 (6),91/1) พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นทางค้า หรือหากำไรฯ คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จากที่ดินพิพาทของโจทก์ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีข้อตกลงข้อ 1 ในความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจะซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์และเมื่อจำเลยที่ 2 ชำระราคาครบถ้วนแล้ว โจทก์ จะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม ค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมดและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์กับ จำเลยที่ 2 ออกคนละครึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุด โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โดยมีค่าฤชาธรรมเนียม ค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ 4 รายการ คือ 1. ค่าธรรมเนียมในการโอน 2. ค่าอากร 3. ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย 4. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมจ่ายค่าภาษีอากรรายการที่ 3 และที่ 4 อีกครึ่งหนึ่งขอให้ชี้ขาดเพื่ออธิบายว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในเงิน ดังกล่าวอีกครึ่งหนึ่งหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ค่าภาษีอากรรายการ ที่ 3 และที่ 4 ตามคำร้องของโจทก์นั้นเป็นหน้าที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะต้องจ่ายเอง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้อง ออกค่าภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะฝ่ายละครั้งตามข้อตกลง จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ยอมจ่ายค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายครึ่งหนึ่ง แต่ภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นไม่มีการเรียกเก็บ ณ สำนักงานที่ดินในวัน โอนกรรมสิทธิ์ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมไม่ได้หมายถึงภาษีชนิดนี้ด้วย ขอให้ ยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้จำเลยที่ 2 ออกเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะคนละครึ่ง กับโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว ยังไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสองคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีได้ความว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ ศาลพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ข้อ 1 ตอนท้ายระบุว่า "...หากจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ชำระเงินครบถ้วน ส่วนค่าฤชา ธรรมเนียม ค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมด และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ นั้น โจทก์กับจำเลยที่ 2 ออกกันคนละครึ่ง" มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของ จำเลยที่ 2 ว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องออก ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะครึ่งหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะมิใช่ค่าใช้จ่ายในการ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่เป็นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ซึ่งบังคับให้ ผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ตกอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งภาษีประเภทนี้มิใช่เป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการ จะต้องไปยื่นชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/10 เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญา ประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเป็น ผู้รับผิดชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งเกิดจากลักษณะการประกอบกิจการของ โจทก์เอง แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 กำหนด ให้ค่าภาษีอากรในการโอนทั้งหมดออกกันคนละครึ่ง ก็จะแปลให้จำเลยที่ 2 ต้อง ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะครึ่งหนึ่งด้วยไม่ได้เพราะเท่ากับให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระ ภาษีในกิจการของโจทก์นอกเหนือไปจากภาษีที่ต้องจ่ายในขณะที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ตามข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น" พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดออกค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ (ดุสิต เพชรปลูก - ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา - ทวีชัย เจริญบัณฑิต) |