พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 โจทก์ประกอบกิจการเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตและขายผลิตภัณฑ์หินอ่อนระหว่างปี 2524 ถึง 2529 โดยได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับลดหย่อนภาษีการค้า สำหรับการขายผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลร้อยละห้าสิบ และให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิเป็นระยะเวลา 5 ปี ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 โจทก์มีรายรับจากการขายหินอ่อนตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับ จำนวน 23,441,571.50 บาท และได้เสียภาษีการค้าประเภท การค้า 1 การขายของชนิด 1 (ก) ไว้แล้วตามบัตรส่งเสริมการลงทุน เมื่อปรากฏว่าสาระสำคัญของสัญญาพิพาททั้งสามฉบับระบุว่า โจทก์ต้องจัดหาพร้อมที่ติดตั้งหินอ่อนจนสำเร็จโดยช่างที่มีฝีมือชำนาญ และเมื่องานสำเร็จและจะต้องมีการตรวจรับงาน ผู้ว่าจ้างจึงจะให้สินจ้างโจทก์ตอบแทน หากต่อมาเกิดความเสียหาย โจทก์ยังต้องมีหน้าที่ทำการแก้ไข สัญญาทั้งสามจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีการค้าในการรับจ้างทำของ แต่โดยที่โจทก์ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนลดหย่อนภาษีเฉพาะการค้าประเภทการขายของ โจทก์จึงไม่ได้รับลดหย่อนภาษีการค้าในการค้าประเภทการรับจ้างทำของ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่โจทก์นำหินอ่อนที่โจทก์ผลิตเพื่อขายและทำหน้าที่ติดตั้งให้แก่ลูกค้า ถือเป็นการขายและมูลค่าสินค้าดังกล่าวให้ถือเป็นรายรับ ซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 1 การขายของตาม ปร.ก. มาตรา 79 ทวิ (3) อีกทั้งสัญญาพิพาททั้งสามฉบับเป็นสัญญารับจ้างทำของแล้ว การที่โจทก์เป็นผู้ผลิตหินอ่อน และนำหินอ่อนที่โจทก์ผลิตไปรับจ้างทำของด้วยเครื่องมือ เครื่องใช้ ค่าแรง และอื่น ๆ โดยโจทก์ไม่ได้แยกราคาเป็นค่าวัสดุกับค่าแรง จึงถือว่าเป็นการรับจ้าง ทำของตามประเภทการค้า 4 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งการค้าประเภทนี้ระบุรายการประกอบการค้าว่าการรับจ้างทำของรวมทั้งการขายส่วนประกอบและวัตถุพลอยได้ เมื่อประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติห้ามว่า ผู้ประกอบการค้าที่เสียภาษีประเภทหนึ่งไปแล้วไม่ต้องเสียภาษีการค้าประเภทอื่นที่เข้าลักษณะอื่นอีก โจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของชนิด 1 (ฉ) ด้วยการที่โจทก์ยอมรับว่า ไม่ได้นำรายรับเงินมัดจำไปเสียภาษีอากรทันทีที่ได้รับเงินมัดจำเพราะเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย และเมื่อโจทก์ได้รับคำชี้แจงจากอธิบดีกรมสรรพากรที่โจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมแล้ว โจทก์ได้ยินยอมเสียภาษีการค้าประเภทจ้างทำของด้วยความสมัครใจของโจทก์ โดยมิได้โต้แย้งนั้น ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่าตามระบบบัญชีโจทก์ เงินมัดจำ หรือเงินประกันเป็นรายได้ของโจทก์ที่จะต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิทันที เมื่อได้มีการวินิจฉัยว่า เงินได้จากการขายหินอ่อนตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับ จำนวน 23,441,571.50 บาท เป็นรายรับจากการรับจ้างทำของ เงินได้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมการลงทุน การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี เงินได้นิติบุคคล จึงต้องแยกต่างหากจากเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี การที่โจทก์ได้นำรายรับของโจทก์ตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับมาชำระภาษีการค้า ตามประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของชนิด 1 (ฉ) เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายต่อกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกภาษีการค้าที่ชำระไปแล้ว และดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องคืน เมื่อโจทก์ชำระภาษีการค้าโดยมิได้มีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนภาษีการค้าโดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน ตาม ปร.ก. มาตรา 30 |