เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่9639/2539 
นางพัชราภรณ์ สันติเสรีโจทก์

บริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเคชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กับพวก

จำเลย
เรื่อง ภาษี ณ ที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง ผลของการประนีประนอมยอมความ (มาตรา 852)

ป. รัษฎากร (มาตรา 40(1), 50)

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างให้ร่วมกันชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินค่าจัดสรรหุ้น ค่าเสียหายอันเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และให้จำเลยทั้งสองออกหนังสือสำคัญรับรองการทำงานแก่โจทก์วันนัดพิจารณาคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมไปแล้วโดยจำเลยทั้งสองยอมจ่ายเงินแก่โจทก์จำนวน 1,229,526 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองได้นำเงินมาวางศาลจำนวน 860,668 บาท โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวน 401,903 บาท พร้อมด้วยหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้โจทก์รับไป

โจทก์ยื่นคำขอว่า เมื่อจำเลยทั้งสองนำเงินมาวางศาลไม่ครบตามที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสอง

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอ

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยยอมชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,229,526 บาทนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนต่าง ๆ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมโดยจำเลยทั้งสองกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเอง เงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมินจำเลยทั้งสองซึ่งต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่ายคืนตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3353/2532 ระหว่างนางประภาศิริ สัตยธรรม โจทก์ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ จำเลย ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำขอของโจทก์นั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองนำเงินเดือนจำนวน 360,906 บาท ซึ่งเป็นเงินเดือนที่จำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2539 มารวมคำนวณภาษีด้วยทั้งที่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วเป็นการซ้ำซ้อนไม่ชอบนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย"

พิพากษายืน

(ณรงค์ ตันติเตมิท - สมมาตร พรหมานุกูล - ธวัชชัย พิทักษ์พล)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021