คำพิพากษาฎีกาที่7056/2539 | |
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด | โจทก์ |
นางพรนภาหรือลักษณ์ ศรีศันสนีย์ กับพวก | จำเลย |
เรื่อง การร่วมกันออกใบกำกับภาษี ร่วมกันปลอมเอกสารใบกำกับภาษีอันเป็นเอกสารสิทธิ และร่วมกันปลอมลายมือชื่อผู้รับเงินกับใช้เอกสารสิทธิปลอม | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาญา ความผิดหลายกรรม ใช้เอกสารปลอม (มาตรา 91, 268) ป. รัษฎากร(มาตรา 86/13, 90/4(3)) | |
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 264, 265, 268 ประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 มาตรา 77/1 (6), 86/13,90/4, 90/4(3) ที่แก้ไขแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคดีใหม่ภายใน 15 วัน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 ประกอบมาตรา 83 ประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 มาตรา 77/1 (6), 86/13, 90/4, 90/4(3) ที่แก้ไขแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เฉพาะการร่วมกันออกใบกำกับภาษี ร่วมกันปลอมเอกสารใบกำกับภาษีอันเป็นเอกสารสิทธิ และร่วมกันปลอมลายมือชื่อผู้รับเงินกับใช้เอกสารสิทธิปลอมเป็นหลักฐานก่อสิทธิในฐานะผู้ซื้อสินค้าไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรจากกรมสรรพากร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นตามฟ้องข้อ 1.1, 1.2 และ 1.3 เป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลรัษฎากร จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 6 ปี ส่วนการร่วมกันใช้เอกสารใบกำกับภาษี อันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอมขึ้นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามฟ้องข้อ 1.4 ลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จำคุก 2 ปี รวมวางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 8 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 4 ปี ของกลางริบ พิเคราะห์แล้วไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13, 90/4(3) เพราะไม่ได้ออกใบกำกับภาษีในนามของจำเลยที่ 1 นั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13 บัญญัติว่าห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ออกใบกำกับภาษี... และมาตรา 90/4 (3) กำหนดโทษของผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออกเอกสารดังกล่าวตามมาตรา 86/13 เห็นว่า กฎหมายมิได้ระบุว่าจะต้องออกใบกำกับภาษีในนามของตนเองจึงจะมีความผิดการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนและมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้อื่นก็เป็นความผิด ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ควรได้รับโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเพียงกระทงเดียวนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 บัญญัติว่า ผู้ใดใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 265 และเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น ให้ลงโทษตามมาตรานี้เพียงกระทงเดียว แต่จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13, 90/4 (3) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษต่างหากจากประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่เข้าข้อยกเว้นให้รับโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเจ้าพนักงานยึดใบกำกับภาษีปลอมได้ในคราวเดียวกันจำเลยจึงควรมีความผิดเพียงกระทงเดียวนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกจำนวนถึง 56 ใบ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแม้เจ้าพนักงานจะยึดใบกำกับภาษีปลอมได้จากจำเลยที่ 1 กับพวกในวันเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกปลอมใบกำกับภาษีทั้งหมดพร้อมกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 กระทง ตามโจทก์ฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน (ชลอ ทองแย้ม - ทองเลื่อน พูลพิพัฒน์ - ทวิช กำเนิดเพ็ชร์) |