เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2662/2539 
บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียล แมนเนจเมนท์ แอนด์ อินเวสท์เมนท์คอร์ปอเรชั่น จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณจากฐานการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่าง (มาตรา 249)

ป.รัษฎากร เบี้ยปรับลด บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (มาตรา 22,65 ทวิ, 65 ตรี, 66, 67)

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ นำวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 29)

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 1041/2/04122 ถึงเลขที่ 1041/2/04127 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 158 ก ./2535/2 ถึงเลขที่ 158ฉ. /2535์2 ที่สั่งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม จำนวน 51,198,693.71 บาทพร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมาย แต่ถ้าศาลเห็นว่าโจทก์ต้องชำระภาษีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ก็ขอให้ลดและงดเบี้ยปรับทั้งหมด

จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิในการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ร้อยละ 5 ของรายรับโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรเสียก่อน กฎหมายไม่ได้ให้ทางเลือกแก่ผู้เสียภาษีว่า จะติดใจเสียภาษีแบบคำนวณกำไรสุทธิตามหลักการบัญชีและมาตรา 65 65 ทวิ 65 ตรี หรือจะใช้วิธีเหมาจ่ายตามมาตรา 71(1) ก็ได้ แต่ทางเลือกดังกล่าวเป็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า " พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความตามการไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินโดยโจทก์มิได้โต้แย้งแล้วว่าโจทก์เป็นบริษัทจำกัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐปานามา มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทคสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย มีนายพี เอ็ม บาจาจ เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงิน การจัดการโรงงาน การจัดการผลิตภัณฑ์การจัดการด้านราคาผลิตภัณฑ์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดังกล่าวในประเทศไทยแก่บริษัทไทยเรยอน จำกัด บริษัทไทยคาร์บอนแบล็ค จำกัดและบริษัทไทยโพลีฟอสเฟตและเคมีภัณฑ์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับเงินได้จากบริษัททั้งสามดังกล่าวในประเทศไทย ถือได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการในประเทศไทย และโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วน 3 แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณจากฐานกำไรสุทธิซึ่งได้จากรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี และคิดตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 66 และมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 19 ที่ใช้บังคับอยู่ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ถึงปี 2531 กำหนดอัตราภาษีเงินได้ไว้ดังนี้ คือ "บัญชีอัตราภาษีเงินได้...(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

(ก) ภาษีจากกำไรสุทธิ

(1) บริษัทจดทะเบียน ร้อยละ 30

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (1) ร้อยละ 35"

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณจากฐานการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น คิดจากจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้นตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 92) พ.ศ.2523 มาตรา 4 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรลงคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 20 แต่นายพี เอม บาจาจ ตัวแทนของโจทก์ไต้ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณจากฐานกำไรสุทธิแทนโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ โดยอ้างว่าไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคสองประกอบมาตรา 71 (1)และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณจากฐานการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยแทนโจทก์ ซึ่งคำนวณโดยวิธีการเทียบกลับจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ชำระไว้ข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ว่านายพี เอ็ม บาจาจ ตัวแทนของโจทก์จะมีสิทธิยื่นเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 76 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 71(1) หรือไม่ก็ตามแต่สำหรับโจทก์ซึ่งเป็นตัวการที่ต้องรับผิดในการเสียภาษีโดยตรงนั้นต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 66 และมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ต้องเสียภาษีในกำไรสุทธิตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ หากจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66 วรรคสองประกอบมาตรา 71(1) ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิได้ ที่โจทก์อ้างว่าบัญชีงบดุล บัญชีกำไรขาดทุนและหลักฐานทางบัญชีต่างๆ ของโจทก์ได้จัดทำกันที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนโจทก์ในประเทศไทยไม่อาจทราบรายการต่างๆ ตามสมุดบัญชี งบดุล และงบกำไรขาดทุนของโจทก์โดยถูกต้องได้ และโจทก์ยังให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ในต่างประเทศอีกหลายประเทศนั้นไม่เพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์ไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิได้ฉะนั้น การที่นายพี เอ็ม บาจาจ ตัวแทนของโจทก์ยื่นรายการและเสียภาษีดังกล่าวแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 66 และมาตรา 67 เจ้าพนักงานประเมินชอบที่จะประเมินให้โจทก์เสียภาษีให้ถูกต้องได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกนายพี เอ็ม บาจาจ ตัวแทนของโจทก์มาไต่สวนและเรียกพยานมาซักถามแล้วได้ความว่า โจทก์มีรายได้จากการให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่บริษัทไทยเรยอน จำกัด บริษัทไทยคาร์บอนแบล็ค จำกัด และบริษัทไทยโพลีฟอสเฟตและเคมีภัณฑ์ จำกัด ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 จำนวน 36,231,797.18 บาท ปี 2530จำนวน 20,045,836.21 บาท และปี 2531 จำนวน 14,014,139.82 บาทแต่ในด้านรายจ่ายนั้น ปรากฏว่าโจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ในปี 2529 จำนวน 1,065,996.19 บาท ปี 2530 จำนวน 1,003,313.90 บาท และปี 2531 จำนวน 331,960.45 บาท รายจ่ายอื่นๆ นายพี เอ็ม บาจาจ ตัวแทนของโจทก์ไม่มีหลักฐานการจ่ายมาแสดง เจ้าพนักงานประเมินจึงได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากพยานหลักฐานในการไต่สวนและซักถามดังกล่าว คำนวณกำไรสุทธิของโจทก์โดยหักรายจ่ายออกจากรายได้ของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีแล้วปรากฏว่าโจทก์มีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 จำนวน 35,165,800.99 บาท ปี 2530 จำนวน 19,042,522.31 บาท และปี 2531 จำนวน 13,682,179.37 บาทคิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 12,308,030.34 บาท 6,664,882.81 บาท และ 4,788,762.78 บาท ตามลำดับ ตัวแทนของโจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้แล้วจำนวน 1,615,145.77 บาท 1,520,172.58 บาทและ 502,970.37 บาท ตามลำดับ โจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่มอีกจำนวน10,692,884.57 บาท 5,144,710.23 บาท และ 4,285,792.41 บาท ตามลำดับ และต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 กับเงินเพิ่มตามมาตรา 27 อีกร้อยละ1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 68 ของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีจนถึงวันชำระ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ยื่นรายการไว้เดิมและแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังโจทก์ได้ แม้เจ้าพนักงานประเมินคิดเบี้ยปรับเกินไป 1 เท่า แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้มีคำวินิจฉัยปรับปรุงเบี้ยปรับเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยคิดเพียง 1 เท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 แล้วกับได้ลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย ผลการประเมินตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว โจทก์ฟ้องคดี โดยมิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ไม่ถูกต้องเพราะหักรายจ่ายแก่โจทก์ไม่ครบถ้วน เนื่องจากโจทก์ยังมีรายจ่ายอื่นอยู่ ดังนั้น ที่โจทก์มากล่าวอ้างยกเป็นข้ออุทธรณ์ในชั้นนี้ว่าการประเมินไม่ชอบเพราะการคำนวณกำไรสุทธิไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์ยังมีรายจ่ายอื่นอยู่อีก แต่เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้นำมาหักออกให้ จึงเป็นข้ออุทธรณ์ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณจากฐานการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 จำนวน 35,165,800.99 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 จำนวน 19,042,522.31 บาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 จำนวน 13,682,179.37 บาท ตามที่วินิจฉัยไว้ในปัญหาตอนต้น และโจทก์จะต้องเสียภาษี เงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 จำนวน 12,308,030.35 บาท ปี 2530 จำนวน 6,665,882.81 บาท และปี 2531 จำนวน 4,788,762.78 บาท หักรายจ่ายส่วนนี้แล้วเหลือเงินกำไรที่โจทก์จำหน่ายไปต่างประเทศในปี 2529 จำนวน 22,857,770.65 บาท ปี 2530 จำนวน 12,377,639.51 บาทและปี 2531 จำนวน 8,893,416.59 บาท ซึ่งโจทก์ต้อง เสียภาษีตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อัตราร้อยละ 20 เจ้าพนักงานประเมินคำนวณแล้วเป็นค่าภาษีจำนวน 3,809,628.44 บาท 2,062,939.91 บาทและ 1,482,236.09 บาท ตามลำดับ ตัวแทนของโจทก์ชำระไว้แล้วจำนวน454,201.77 บาท 470,529.93 บาท และ 155,681.30 ตามลำดับหักแล้วคงเหลือภาษีที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มจำนวน 3,355,426.67 บาท1,592,410.28 บาท และ 1,32,554.79 บาทตามลำดับ และโจทก์ต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 อีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ยื่นรายการไว้เดิมและแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังโจทก์ได้ทั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 50ของเบี้ยปรับตามกฎหมายแก่โจทก์ ผลการประเมินตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์ในข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระภาษี แต่กระทำไปโดยสุจริตใจตามคำแนะนำของสำนักงานบัญชีที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย จึงขอให้งดเบี้ยปรับแก่โจทก์นั้น เห็นว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ลงเหลือเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเพราะเชื่อว่าโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการชำระภาษีนับว่าเป็นดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่งดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(สุนพ กีรติยุติ - นิเวศน์ คำผอง - จำลอง สุขศิริ )

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021