คำพิพากษาฎีกาที่51/3539 | |
บริษัท ค้าสากลซีเมนต์ไทย จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร (มาตรา 65ทวิ (6)) พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2537 | |
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ เลขที่ กค.0807/0143 ลงวันที่ 10 มกราคม 2530 ของเจ้าพนักงานประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ 14/2536/1ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2535 ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยให้การว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในการแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ถูกต้องชอบด้วยข้อเท็จจริง เหตุผลและหลักกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ''ข้อเท็จจริง ฟังได้ว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 โจทก์ได้ขายสินค้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อุปกรณ์และซอฟแวร์ให้แก่บริษัทเอสซีที คอมพิวเตอร์ จำกัด ในราคา 21,732,980.05 บาท ต่ำกว่าราคาคาทุนไป 6,171,818.88 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์ขายสินค้าดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เริ่มซื้อสินค้าคอมพิวเตอร์มาเพื่อจำหน่ายตั้งแต่ปี 2526 เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี แล้ว ขณะขายให้แก่บริษัทเอสซีที คอมพิวเตอร์ จำกัด มีสินค้าคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ออกมาถึง 4 รุ่น เป็นอย่างน้อย สินค้าที่โจทก์ขายไปจึงเป็นสินค้าตกรุ่นนั้น นายธีรศักดิ์ กิติลักษณวงศ์ พยานโจทก์เบิกความว่า สินค้าที่ขายโจทก์ซื้อมาตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปี 2530 เป็นสินค้าใหม่ไม่เคยถูกใช้ นางอังคณา ชูโต พยานโจทก์เบิกความว่า สินค้าที่บริษัทเอสซีที -คอมพิวเตอร์ จำกัด รับโอนจากโจทก์บางชิ้นบริษัทเอสซีที คอมพิวเตอร์ จำกัด ขายได้กำไร นายพิพัฒน์ คณานุวัฒน์ พยานโจทก์เบิกความว่าคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ใช้งานแม้จะเก็บนานเท่าไรก็ไม่เสื่อมสภาพ ทั้งสองของโจทก์ก็ระบุว่าสินค้าที่โจทก์ขายมีทั้งที่อยู่ในสมัยและล้าสมัย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยัง ฟังไม่ได้ว่าสินค้าที่โจทก์ขายไปเป็นสินค้าตกรุ่นทั้งหมด และจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวสินค้าตกรุ่นที่โจทก์ขายก็เป็นสินค้าใหม่ ไม่เคยถูก ใช้งานและไม่เสื่อมสภาพ จึงไม่น่าเชื่อว่ามีราคาต่ำกว่าทุนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ขายสินค้าให้แก่บริษัทในเครือเดียวกันแม้จะขายในราคาต่ำกว่าทุนก็มีเหตุผลอันสมควรยิ่งกว่าการขายให้แก่ผู้อื่น ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3796-3797/2525 นั้น เห็นว่า คดีดังกล่าว เป็นการขายหุ้นมิใช่ขายสินค้า ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าพยานโจทก์คือนายธีรศักดิ์เบิกความว่า สินค้าที่โอนคือเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอุปกรณ์และซอฟแวร์ยี่ห้อไอบีเอ็ม โอนไปในลักษณะของสินค้าตกรุ่น นายพิพัฒน์เบิกความว่า เมื่อก่อนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีวิวัฒนาการสูงขึ้นปีละครั้ง แต่ในช่วง 4 ปีหลังจะออกรุ่นใหม่มา 2-3 รุ่นต่อปีรุ่นใหม่ที่ออกมาทุกครั้งจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ราคาถูกลงกว่าเดิม สำหรับสินค้าที่ตกรุ่นจะต้องมีการจำหน่ายออกไปเพื่อรับรุ่นใหม่เข้ามา การจำหน่ายเช่นนี้ทำให้ราคาตกลง จึงต้องกำหนดราคาให้ต่ำเพื่อจะได้ขายให้หมด ถ้าไม่ลดราคาสินค้ารุ่นเก่าจะทำให้สินค้ารุ่นใหม่ไม่สามารถออกจำหน่ายได้เนื่องจากถ้าออกมาแล้วสินค้ารุ่นเก่าจะขายไม่ได้เลยและมีตัวแทนจำหน่ายของบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด คือ บริษัทเมโทร จำกัด ได้เคยทำลายสินค้าที่ซื้อไปจากบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เนื่องจากขายไม่ออก นายยรรยง เต็งอำนวย เบิกความว่า ภาคราชการเคยไม่รับบริจาคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นเก่าเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูงและไม่สามารถใช้กับเครื่องรุ่นใหม่ได้ สินค้ารุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 2-3 เท่า แต่ราคาจะเท่ากับหรือต่ำกว่ารุ่นเก่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่า การขายสินค้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ตกรุ่นจะต้องขายต่ำกว่าราคาทุนจึงจะขายได้ โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องนำสืบว่าสินค้ารุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าตามที่พยานโจทก์เบิกความนั้นเป็นสินค้าของบริษัทใด ออกมา เมื่อใด รุ่นอะไร มีประสิทธิภาพดีกว่ากันอย่างไรและขายในท้องตลาดราคาใด ตามที่ ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวมิได้เบิกความระบุว่าสินค้าที่โจทก์ขายเมื่อต้องลดราคาลงแล้วจะต้องขายต่ำกว่าราคาทุน เพราะนายพิพัฒน์พยานโจทก์เบิกความว่าการขายให้แก่บุคคลทั่วไป ราคาที่กำหนดนั้นบวกกำไรไว้แล้วและพยานโจทก์ก็มิได้ระบุว่าสินค้าที่โจทก์ขายเป็นสินค้ารุ่นเดียวกับที่บริษัทเมโทร จำกัด ได้เคยทำลาย หรือรุ่นเดียวกับที่ทางราชการไม่รับบริจาคที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สินค้าที่นายพิพัฒน์เบิกความว่ารุ่นใหม่จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ราคาจะถูกลงเป็นสินค้าของบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด นั้นก็เป็นความเข้าใจของโจทก์เอง โดยพยานมิได้ระบุว่าเป็นสินค้าของบริษัทดังกล่าวและพยานก็มิได้ระบุว่าเป็นสินค้ารุ่นใหม่กว่าสินค้าที่โจทก์ขายแต่อย่างใด จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำต้องขายสินค้าพิพาทในราคาต่ำกว่าทุน ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สินค้าที่โจทก์ขายมีจำนวนมากหลายรายการเป็นการขายเหมา การจะนำสืบราคาในท้องตลาดของแต่ละชิ้นแต่ละรายการของสินค้าย่อมไม่มีทางเป็นไปได้นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่จำต้องนำสืบราคาในท้องตลาดของสินค้าแต่ละชิ้นแต่ละรายการแต่อย่างใดเพียงแต่นำสืบราคาในท้องตลาดของคอมพิวเตอร์ที่ขายแต่ละรุ่นเท่านั้นซึ่งสามารถนำสืบได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่าราคาในท้องตลาดของสินค้าที่โจทก์ขายต่ำกว่าทุน ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นางอังคณาเบิกความต่อไปด้วยว่าสินค้าบางชิ้นบริษัทเอสซีที คอมพิวเตอร์ จำกัด ขายไม่ได้ต้องรอการทำลายทิ้ง บางชิ้นขายไม่ได้ต้องเก็บไว้เป็นอะไหล่เพื่อคอยให้บริการแก่ลูกค้า และจนถึงปี 2533 ก็ยังคงเห็นสินค้าที่ซื้อขายกันนี้อยู่ในความครอบครองของบริษัทเอสซีทีคอมพิวเตอร์ จำกัด เห็นว่าพยานมิได้เบิกความว่าสินค้าดังกล่าวมีอะไรบ้างและมีราคาต่ำกว่าทุนหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การหักสำรองสินค้าล้าสมัยหรือตกรุ่นที่โจทก์นำมาหักออกจากราคาทุนเพื่อกำหนดเป็นราคาขาย ใช้หลักการอันเดียวกันกับการหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคา ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นการหักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่บริษัทนำมาใช้งานในกิจการของบริษัทเห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มาตรา 4(5) บัญญัติเกี่ยวกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินอย่างอื่น นอกจากที่ดินและสินค้า ฉะนั้นพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงนำมาใช้กับสินค้าที่โจทก์ขายไม่ได้ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการหักสำรองสินค้าล้าสมัย ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (6) เปิดโอกาสให้ทำได้นั้น เห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (6) เป็นเรื่องการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี มิใช่เรื่องการคำนวณราคาขายสินค้า โจทก์จึงไม่อาจนำราคาสินค้าคงเหลือที่คำนวณตามมาตรา 65 ทวิ (6) มาถือเป็นราคาขายได้ และสินค้าของโจทก์ได้ขายไปแล้วมิใช่สินค้าคงเหลือ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานจำเลยคือนางจุฑารัตน์ วัฒยากร เป็นผู้ครอบครองบัญชีและเอกสารของโจทก์และเป็นผู้ทำความเห็นในเบื้องต้นแทนเจ้าพนักงานประเมิน เป็นผู้มีส่วนได้เสียแห่งคดีและนายผชาญ วชิรประดิษฐพร เป็นนิติกรประจำกองอุทธรณ์ภาษีอากรกรมสรรพากร ซึ่งเป็นผู้ตรวจและลงความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำเบิกความของพยานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์นั้น เห็นว่า พยานดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีส่วนได้เสียในคดี ทั้งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงคำเบิกความของพยานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ซึ่งมิได้รู้เห็นเกี่ยวกับคดีนี้โดยตรงเพียงแต่เบิกความแสดงความคิดเห็นหรือการคาดหมายของพยานเท่านั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน (ชลอ ทองแย้ม - นิเวศน์ คำผอง - สันติ ทักราล) |