เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3840/2538 
บริษัทรีน่าแวร์ ดิสทริบิวเตอร์สพีทีวาย จำกัดโจทย์

กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวก

จำเลย
เรื่อง อุทธรณ์การประเมินเมื่อล่วงเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป. รัษฎากร (มาตรา 30)

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับอุทธรณ์ของโจทก์ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาต่อไปตามกฎหมาย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์มิได้ยืนยันว่าการย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ใหม่ โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการ ที่ตั้งสำนักงานต่อสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ ถือได้ว่าโจทก์ยังมีสำนักงานอยู่ที่เดิมตามที่ได้จดทะเบียนไว้ การส่งหมายเรียกและหนังสือแจ้งการประเมิน ณ สำนักงานเดิมจึงชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 8 โจทก์อุทธรณ์การประเมินเมื่อล่วงเลยมา 6 ปีเศษ นับแต่วันที่ถือว่าเป็นอันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินและอธิบดีกรมสรรพากรไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอุทธรณ์การประเมินได้ และไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติว่า "ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่อำเภอไม่มีหน้าที่ประเมิน ให้อุทธรณ์ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินโดยให้อุทธรณ์ตามเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตาม มาตรา 21 หรือ มาตรา 25

เจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดพระนคร...ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีหรือผู้แทน ผู้แทนกรมอัยการและผู้แทนกรมมหาดไทย...

(2) เว้นแต่กรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์" ดังนั้นการอุทธรณ์การประเมิน ตามกรณีในคำฟ้องของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว จึงต้องยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน ผู้แทนกรมอัยการและผู้แทนกรมหมาดไทย และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยบุคคลดังกล่าวแล้วเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 หามีหน้าที่ในการสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ได้ และตามคำฟ้องโจทก์หาได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นผู้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไม่โจทก์จึงไม่มีเหตุที่จะมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ การที่โจทก์ตีความเอาการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่แจ้งแก่โจทก์ว่าไม่ขยายเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์มีผลเป็นการที่จำเลยที่ 1 ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 กระทำในนามของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานและตัวแทนจึงต้องรับผิดร่วมกันนั้น มีผลเท่ากับโจทก์กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั่นเอง แม้จะเป็นดังกรณีที่โจทก์เข้าใจเอาเองดังกล่าวก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องมาฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องอีก เพราะหากผลการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเท่ากับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อศาลได้ อำนาจฟ้องของโจทก์เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป"

พิพากษายืน

(สุนพ กีรติยุติ - นิเวศน์ คำผอง - ชลอ ทองแย้ม)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021