คำพิพากษาฎีกาที่ 3821/2538 | |
บริษัท พี.ที.ซาริ ดาร์ม่า อินดาห์จำกัด | โจทย์ |
ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิริอุดม กับพวก | จำเลย |
เรื่อง สัญญาว่าจ้างให้เป็นตัวแทนดำเนินการติดต่อขอใบอนุญาตทำการประมงให้แก่เรือประมง | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง ตัวแทน (มาตรา 798) วิธีพิจารณาความแพ่ง การมอบอำนาจ คำให้การ (มาตรา 47, 177) ป. รัษฎากร ปิดอากรแสตมป์ตราสาร (มาตรา 118) | |
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายกำธร อุ่นหิรัญสกุล เป็นผู้ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ตกลงเข้ากันเพื่อจัดหาเรือประมงไปทำการประมงในเขตน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียด้วยประสงค์จะแบ่งโซนกำไรอันจะพึงได้จากการประมง จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์เป็นตัวแทนดำเนินการติดต่อขอใบอนุญาตทำการประมงให้แก่เรือประมงของจำเลยที่ 1 หรือเรือที่จำเลยที่ 1 จัดหามาในเขตน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซียจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระค่าบริการดังกล่าวแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 30,000 บาท ต่อเรือประมง 1 ลำ ที่ได้รับใบอนุญาต มีกำหนดระยะเวลา 8 เดือน ต่อมาโจทก์ดำเนินการติดต่อจนได้รับใบอนุญาตสำหรับเรือแดงศิริ เรือแดงมงคล และเรือศิริอุดม 59 ของจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้โจทก์ ลำละ30,000 บาท รวม 3 ลำ เป็นเงิน 90,000 บาท ต่อเดือน ทุกเดือนไป เป็นระยะเวลา 8เดือน แต่จำเลยทั้งสามชำระค่าตอบแทนให้โจทก์เพียงเดือนแรกเดือนเดียว ส่วนค่าตอบแทนอีก 7 เดือน เป็นเงิน 630,000 บาท จำเลยทั้งสามไม่ชำระโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามใช้เงินจำนวน 630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามให้การว่า หนังสีอมอบอำนาจของโจทก์ นายกำธร อุ่นหิรัญสกุล ผู้รับมอบอำนาจมิได้ลงลายมือชื่อ หนังสือมอบอำนาจจึงไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 การตั้งตัวแทนของโจทก์ให้ดำเนินคดีย่อมเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ต้องดำเนินการขอออกใบอนุญาตทำการประมงในประเทศอินโดนีเซีย ใบผ่านน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียและประเทศที่เรือแล่นผ่าน เช่น ประเทศมาเลเซีย พร้อมใบอนุญาตของลูกเรือที่เข้าทำการประมง แต่โจทก์ไม่สามารถขอใบอนุญาตต่างๆ ให้จำเลยตามข้อตกลงได้ และโจทก์นำคดีมาฟ้องก่อนวันครบกำหนดตามสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยทั้งสามฎีกาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ในประการแรกว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนเป็นการมอบหมายให้ตัวแทนกระทำกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ซึ่งกิจการอันใดกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนจึงต้องลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจแต่หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายกำธร อุ่นหิรัญสกุล ฟ้องคดีแทนโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 2 นายกำธรมิได้ลงชื่อไว้ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 จึงไม่สมบูรณ์นายกำธรไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น เห็นว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เมื่อโจทก์แต่ฝ่ายเดียวได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจให้นายกำธรกระทำกิจการติดตามทวงถามหนี้สินตลอดจนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามแทนโจทก์แล้ว แม้นายกำธรไม่ได้ลงชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจด้วย เพียงแต่มาเบิกความยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ก็ตาม หนังสีอมอบอำนาจย่อมสมบูรณ์และมีผลให้บังคับได้ตามกฎหมาย นายกำธรจึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่จำเลยทั้งสามฎีกาในประการที่สองว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 มิได้ปิดอากรแสตมป์จึงไม่สมบูรณ์ นายกำธรไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น เห็นว่าปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นต่อสู้ ไว้ในคำให้การ จำเลยทั้งสามก็ยกขึ้นฎีกาได้ ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ทำขึ้นในต่างประเทศ มีการรับรองโดยโนตารีปับลิกและหัวหน้าฝ่ายกงสุล เมืองจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย รับรองอีกชั้นหนึ่งว่า ได้มีการจัดทำเอกสารขึ้นอย่างแท้จริง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวถือว่าถูกต้องตามกฎหมายประเทศดังกล่าวแล้ว ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย นายกำธรมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสามฎีกาในประการสุดท้ายว่า โจทก์อ้างว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองถึงสถานะการเป็นนิติบุคคลมาแสดง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยจดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการด้านประมง จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย และมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขอออกใบอนุญาตในการทำการประมงภายในขอบข่ายงานการดำเนินการของบริษัทโจทก์กับเรือประมงต่างด้าว เพื่อการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย (อีซีแซด)ตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสามไม่ทราบ และไม่ยอมรับว่าโจทก์สามารถที่จะทำได้คำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง เพราะมิได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสองไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลดามกฎหมาย โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบถึงหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์อีก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน" พิพากษายืน (ทองเลื่อน พูลพิพัฒน์ - จองทรัพย์ เที่ยงธรรม - สมมาตร พรหมานุกูล) |