คำพิพากษาฎีกาที่ 2645/2538 | |
กรมสรรพากร | โจทย์ |
ห้างหุ้นส่วนจำกัดประกาส กับพวก | จำเลย |
เรื่อง การประเมินตามคำสั่งกรมสรรพากร | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แพ่ง อายุความค่าภาษีอากร หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด นำบทบัญญัติ ว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด (มาตรา 193/31, 1077, 1080) พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ฟ้องคดีล้มละลาย เหตุที่ไม่ควรให้ล้มละลาย ขอให้หุ้นส่วนจำพวก ไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้าง (มาตรา 4, 14, 89)ป.รัษฎากร (มาตรา 8) | |
โจทก์ฟ้อง ห้างจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีการค้าของปี 2517-2521 เป็นเงินเกินกว่า500,000 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีดังกล่าวให้โจทก์ภายใน 30 วัน โดยการประกาศทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระภายในกำหนด และมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน จึงถือได้ว่าหนี้ภาษีอากรดังกล่าวเด็ดขาดและเป็นหนี้ภาษีอากรค้างจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวและไม่จำกัดจำนวน โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้สองครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันโดยวิธีปิดประกาศ จำเลยทั้งสองไม่ชำระถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับแจ้งการประเมินจากโจทก์ตามขั้นตอนของกฎหมาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบการประเมินของโจทก์แล้วยังไม่ได้ โจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่พ้นระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการสำหรับระยะเวลาบัญชีปี 2517 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ถูกต้อง หนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นหนี้ที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแต่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของโจทก์ตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 1 เสียภาษีไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ทำการไต่สวนแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าเพิ่ม รวมเป็นเงิน 862,276.84 บาท ปรากฏตามรายงานการตรวจสอบภาษีอากร เอกสารหมาย จ.11 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ออกแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย จ.13 ส่งให้จำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แต่ได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แล้วแต่ไม่พบและไม่มีผู้รับ โจทก์จึงจัดการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้ชำระภาษีอากรประเมินตามแบบแจ้งการประเมินและมิได้อุทธรณ์การประเมินแต่อย่างใด สำหรับปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้นแม้จำเลยที่ 2 จะฎีกายาวหลายประการแต่พอสรุปเป็นปัญหาต้องวินิจฉัยได้ 3 ข้อ ดังนี้คือ หนี้ภาษีอากรที่โจทก์อ้างเป็นมูลฟ้องคดีนี้เป็นหนี้จำนวนแน่นอนและมีจำนวนเกินกว่าห้าแสนบาทหรือไม่ คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ สำหรับปัญหาข้อแรกที่ว่าหนี้ภาษีอากรที่โจทก์อ้างเป็นมูลฟ้องคดีนี้เป็นหนี้จำนวนแน่นอนและมีจำนวนเกินกว่าห้าแสนบาทหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีจากโจทก์ และเจ้าหน้าที่ของโจทก์คำนวณภาษีอากรประเมินไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 8 บัญญัติว่า "หมายเรียก หรือหนังสืออื่น ซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ จะให้นำไปส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ ถ้าให้นำไปส่ง เมื่อผู้ส่งไม่พบผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ในบ้านหรือสำนักงานของผู้รับก็ได้ ถ้าหมายหรือหนังสืออื่นตามวิธีดังกล่าวข้างต้นจะส่งโดยวิธีปิดหมายหรือหนังสือในที่ซึ่งมองเห็นได้ถนัดที่ประตูบ้านหรือสำนักงานของผู้รับหรือโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่ก็ได้ เมื่อได้ส่งหมายหรือหนังสือตามวิธีดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว" ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนที่โจทก์จะส่งแบบแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 862,276.84 บาท โดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่นั้นโจทก์ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว แต่ส่งไม่ได้ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ผู้นำส่งรายงานว่าไม่มีผู้รับ กรณีเช่นนี้นับว่าเป็นกรณีที่ไม่สามารถจะส่งตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งแห่งบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้ โจทก์จึงชอบที่จะเลือกส่งตามวิธีการใดวิธีการหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสาม คือส่งโดยวิธีปิดหมายหรือหนังสือในที่ซึ่งมองเห็นได้ถนัดที่ประตูบ้านหรือสำนักงานของผู้รับ หรือส่งโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่ก็ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ลงโฆษณาแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย จ.13 ในหนังสือพิมพ์ท้องที่ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวตามความในวรรคท้ายแห่งบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมินไว้ซึ่งมีผลให้หนี้ภาษีอากรตามฟ้องเป็นหนี้เด็ดขาดและมีจำนวนแน่นอนเกินกว่าห้าแสนบาทขึ้นไป จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 จะกลับมาปฏิเสธว่าหนี้ดังกล่าวไม่ชอบหรือจำนวนหนี้ไม่ถูกต้องอีกหาได้ไม่ สำหรับปัญหาวินิจฉัยข้อสองที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า อายุความฟ้องร้องดำเนินคดีเริ่มนับตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีไว้ คือ วันที่ 19 กันยายน 2527 หากนับถึงวันฟ้องจะเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าภาษีอากรตามที่ประเมินแก่โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน คดีนี้โจทก์ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีในวันที่ได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์อายุความจึงเริ่มต้นเมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีอากร ซึ่งเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรค้างแก่โจทก์ จำนวน 862,276.84 บาท และจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีทรัพย์สินใดชำระหนี้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070, 1077 และมาตรา 1080จึงไม่อาจต่อสู้ว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ ทั้งกรณีไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด ชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น" (สะสม สิริเจริญสุข - สมาน เวทวินิจ - สุทธิ นิชโรจน์) |