เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2642/2538 
บริษัทคาร์เนชั่น แมนนิวแฟ็คเชอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัดโจทย์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง เงินได้พึงประเมินประเภทค่าแห่งสิทธิ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.รัษฎากร (มาตรา 40(3)(6),70(2))

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 3.4/1041/2/04211-04215 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 16/2536/1 หากฟังว่าเป็นกรณีตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้งดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์

จำเลยให้การว่าการประเมินภาษีของโจทก์โดยเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้นถูกต้องตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.4/1041/2/04211-04215 รวม 5 ฉบับ และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 16/2536/1 ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 40,000 บาท

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์และพยานหลักฐานจำเลยว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดผลิตครีมเทียมยี่ห้อคอฟฟี่เมตในประเทศไทย โดยก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจากบริษัทคาร์เนชั่น ประเทศสหรัฐอเมริกาจำกัดโดยโจทก์จะต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าสิทธิในการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าให้บริษัทคาร์เนชั่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จำกัด ร้อยละ 5 ของยอดขายสุทธิ หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 บริษัทคาร์เนชั่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จำกัด ได้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้แก่บริษัทโซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.อา.จำกัด โจทก์จึงตกลงจ่ายค่าสิทธิให้แก่บริษัทโซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.อา. จำกัด ในอัตราร้อยละ 4 ของยอดขายสุทธิ ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 80 นอกจากนี้โจทก์ยังได้ทำสัญญาการใช้ความรู้ทางวิศวกรรมกับบริษัทเนสท์เท็ค จำกัดโดยจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้บริษัทเนสท์เท็ค จำกัด อีกร้อยละ 2.5 ของยอดขายสุทธิ ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 73 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้บริษัทเนสท์เท็ค จำกัด ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 73 เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(3)หรือ 40(6) เห็นว่า บริษัทโซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.อา. จำกัดกับบริษัทเนสท์เท็ค จำกัดมีสำนักงานบริษัทตั้งอยู่ที่เวเว่ย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แห่งเดียวกันสัญญาที่โจทก์ทำกับบริษัททั้งสองดังกล่าวมีอายุสัญญาและมีรายละเอียดเริ่มต้นกับวันสิ้นสุดเหมือนกันคือเริ่มแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 และสิ้นสุดในวันที่ 1 มกราคม 2533 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 77 และแผ่นที่ 86 ทั้งมีเงื่อนไขว่าหากบริษัทเนสท์เท็ค จำกัดเลิกสัญญากับโจทก์ บริษัทโซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.อา. จำกัด ก็มีสิทธิเลิกสัญญากับโจทก์เช่นเดียวกัน ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 87 ข้อ 24 (จ) สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวนอกจากระบุให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าและบริษัทเนสท์เท็ค จำกัด จะต้องให้ความช่วยเหลือทางวิศวกรรมแล้ว ยังระบุในข้อ 3 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า และข้อ 2 ของสัญญาการให้ความรู้ทางวิศวกรรมตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 81 และแผ่นที่ 74 ตามลำดับ ให้บริษัททั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์จัดหาและแนะนำกรรมวิธีการผลิต ตำรับ สูตรหรือความรู้อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ โดยเฉพาะข้อตกลงซึ่งโจทก์ได้ทำไว้กับบริษัทเนสท์เท็ค จำกัด ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 1 และ ข้อ 2 นั้น นอกจากบริษัทเนสท์เท็ค จำกัด จะต้องให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพและรักษาระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสูงแล้ว บริษัทเนสท์เท็ค จำกัด ยังต้องให้ข้อแนะนำวิธีในการผลิตแก่โจทก์ ศึกษาและแนะนำวิธีการใช้กรรมวิธีใหม่และพัฒนาให้ดีขึ้น ดังปรากฏจากคำเบิกความของนางชลลดา ฟูวัฒน์ศิลป์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยว่า เงินตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทเนสท์เท็ค จำกัด นั้น เป็นค่าบริการเกี่ยวกับกรณีที่บริษัทเนสท์เท็ค จำกัด ให้คำแนะนำในเรื่องกรรมวิธีการผลิตสินค้าโดยมีข้อกำหนดให้โจทก์เก็บรักษาคำแนะนำไว้เป็นความลับเมื่อเลิกสัญญาแล้วต้องส่งเอกสารต่าง ๆ คืน ส่วนบริษัทโซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.อา. จำกัด นั้นไม่ปรากฏว่าเคยให้ข้อแนะนำแก่โจทก์เกี่ยวกับเรื่องสูตรหรือกรรมวิธีการผลิตเลย จึงแสดงให้เห็นได้ว่าการผลิตของโจทก์อยู่ภายใต้เงื่อนไขและการควบคุมดูแลของบริษัทเนสท์เท็ค จำกัด เงินค่าตอบแทนที่บริษัทเนสท์เท็ค จำกัดได้รับจึงไม่ใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระประเภทวิศวกรรมตามความหมายของประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (6) หากแต่เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้สิทธิในการผลิตครีมเทียมยี่ห้อคอฟฟี่เมตตามสูตรและความรู้ที่ได้รับตามข้อแนะนำเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตของบริษัทเนสท์เท็ค จำกัด ตลอดเวลาของอายุสัญญาที่ได้ทำกันไว้ ซึ่งโจทก์จะต้องรักษาไว้เป็นความลับและส่งคืนบรรดาเอกสารทั้งปวงที่เกี่ยวกับสูตรและความรู้ดังกล่าวแก่บริษัทเนสท์เท็ค จำกัด เมื่อสิ้นอายุสัญญาหรือสัญญาเลิก เงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าแห่งสิทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) ที่บริษัทเนสท์เท็ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับจากโจทก์โจทก์ต้องหักภาษีแล้วนำส่งต่อจำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 (2) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น"

(สันติ ทักราล - นิเวศน์ คำผอง - ปราโมทย์ ชพานนท์)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021