เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 173/2538 
นางวรรณศรี กานตานนท์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิรัตน์ อินทรสูตโจทก์

นายวิรัตน์ รัฐวิสุทธินันท์ กับพวก

จำเลย
เรื่อง จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ทายาท
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษาเกินคำขอ ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน (มาตรา 142(5),249)ป.รัษฎากร ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิรัตน์ อินทรสูต จำเลยทั้งสองอยู่กินฉันสามีภริยากัน และเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2528 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23215 เนื้อที่ 70.1 ตารางวา ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์ ให้แก่นายวิรัตน์เป็นเงิน 34,550 บาท ในวันทำสัญญานายวิรัตน์ได้วางเงินมัดจำจำนวน 3,400 บาท ส่วนที่เหลือนายวิรัตน์จะผ่อนชำระให้จำเลยทั้งสองเป็นรายเดือนเดือนละ 500 บาท ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน นายวิรัตน์ผ่อนชำระค่างวดให้แก่จำเลยทั้งสองได้จำนวน 59 งวด ก็ถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะทายาทได้ผ่อนชำระส่วนที่เหลือจนครบ แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ทายาทของนายวิรัตน์ โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 แล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ดำเนินการขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระราคาที่ดินที่นายวิรัตน์ได้ชำระไปพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันครบกำหนดในสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยจ้างให้จำเลยที่ 2 เป็นเสมียนบัญชีกิจการค้าขายที่ดินระหว่างปี 2524-2530 เท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินตามฟ้องให้แก่นายวิรัตน์ อินทรสูต และไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินดังกล่าวจำเลยที่2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อ จำเลยที่ 1 ในสัญญาซื้อขายโดยมิได้รับความยินยอมและเป็นผู้รับเงินไปโดยมิได้นำมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวให้โอนที่ดินมาก่อน ที่ดินพิพาทมีราคา 70,100 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ทำหน้าที่เก็บเงินจากผู้ที่ซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลยที่ 1 และออกใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 2 นำเงินไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1จนครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23215ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาที่ดินจำนวน 34,550 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2534เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาที่ดินจำนวน 70,100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทหมาย จ.3 มีรายการแสดงว่าได้มีการชำระเงินจำนวน 3,400 บาทจึงเป็นใบรับตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรข้อ 28 ต้องปิดอากรแสตมป์เสียก่อนจึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เห็นว่าโจทก์อ้างสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทหมายจ.3 เป็นพยานเพื่อแสดงข้อเท็จจริงต่อศาลว่า ได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างนายวิรัตน์กับจำเลยที่ 1ไม่ได้อ้างเพื่อแสดงข้อเท็จจริงว่าเป็นใบรับ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 28 และไม่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118ฎีกาจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 70,100 บาท มิใช่แก้ข้อผิดพลาดเล็กน้อยและเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่นายวิรัตน์เป็นเงิน 34,550 บาท นายวิรัตน์ผ่อนชำระค่างวดให้แก่จำเลยทั้งสองได้ 59 งวด ก็ถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะทายาทได้ผ่อนชำระส่วนที่เหลือจนครบ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทของนายวิรัตน์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์หากไม่ดำเนินการขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระราคาที่ดินที่นายวิรัตน์ได้ชำระไปพร้อมดอกเบี้ย ฉะนั้นคำขอของโจทก์คือถ้าโอนที่ดินไม่ได้ก็ขอเงินที่ชำระไปคืน โจทก์มิได้ขอให้จำเลยชำระราคาที่ดินในขณะฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาที่ดินจำนวน 70,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขออันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1จึงมีสิทธิฎีกาและศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยให้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

(สถิตย์ ไพเราะ - พรชัย สมรรถเวช - สมคิด ไตรโสรัส)

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021