เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2002/2537 
กรมศุลกากร กับพวกโจทก์
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีซีอีเล็คโทรนิคส์ กับพวกจำเลย
เรื่อง อายุความหนี้ค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาล 
กฎหมายที่เกี่ยวข้องแพ่ง อายุความเรียกร้องเอาภาษีอากร (มาตรา 193/31) วิธีพิจารณาความอาญา
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา (มาตรา 51) พ.ร.บ.ศุลกากรฯ (มาตรา 10)

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระเงินค่า ภาษีอากร 77,485.25 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนในต้นเงินอากรขาเข้า 15,262.50 บาท เป็นรายเดือนนับ แต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและ แบบแสดงรายการการค้าเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แต่ได้ยื่นโดย ถูกต้องตามความจริง ฟ้องโจทก์เกิน 10 ปี จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าอากร ขาเข้าและเงินเพิ่มอากรขาเข้ารวม 42,581.48 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้า อัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในต้นเงินอากรขาเข้า 15,262.50 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้ยกฟ้อง โจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายมีว่า ฟ้องโจทก์ทั้งในส่วนค่าอากรขาเข้า ค่าภาษีการค้า และค่าภาษีบำรุงเทศบาลขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สำหรับเงินค่าอากรขาเข้า หรือภาษีศุลกากรนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคแรก บัญญัติว่า "บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามบทพระราชบัญญัตินี้และ ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร การเสียค่าภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้" และมาตรา 41 บัญญัติว่า "ถ้ามีความจำเป็นด้วย ประการใด ๆ เกี่ยวกับการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่า การนำของ ใด ๆ เข้ามาจะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ ท่านให้ถือว่า การนำของเข้ามา เป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของจาก เรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง" ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้นำเครื่องรับวิทยุจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร ในเขตท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2518 ซึ่งอายุความในการ เรียกค่าภาษีอากรนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2468 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า "เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิ ของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น ให้มีอายุความสิบปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความ สองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก" ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่อง อายุความเฉพาะกรณีที่กรมศุลกากรเรียกเงินอากรขาดเพราะเหตุดังกล่าว โดย มีอายุความสิบปีหรือสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก แต่กรณีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปที่เกี่ยวกับการ เรียกเอาค่าภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่) ที่บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้อง ของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากร ท่านให้มีกำหนดอายุความสิบปี..." และการนับ อายุความก็ต้องให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/31 ที่ แก้ไขใหม่) ซึ่งหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้าในส่วนที่ขาดนี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่อาจ บังคับได้ในวันที่โจทก์ที่ 1 ตรวจพบการหลีกเลี่ยงภาษีอากร กรณีนี้ตามฟ้องและทาง นำสืบของโจทก์ที่ 1 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจพบการหลีกเลี่ยงภาษีอากรของ จำเลยวันใด คงมีเพียงว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าเท็จหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร โจทก์ที่ 1 ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อจำเลย และศาลอาญามีคำพิพากษา ลงโทษจำเลยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2524 โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยชำระค่าภาษี อากรเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532 เท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณา สำเนาคำพิพากษาของศาลอาญาตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ถึง 13 ที่ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ปรากฏตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ ในคดีดังกล่าวว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจพบว่าจำเลยหลีกเลี่ยง ค่าภาษีอากรเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2518 ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดี นี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จึงเกินกำหนดสิบปีแล้ว คดีของโจทก์ที่ 1 ส่วนนี้ จึงขาดอายุความ คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของ ศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น

ส่วนค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งถือเป็นภาษีการค้าด้วนนั้น ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่) มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) คือ มีอายุความสิบปีนับเริ่ม แต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เบญจ (1) และประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) ออก ตามความในมาตรา 78 เอกาทศ และมาตรา 78 ทวาทศ กำหนดให้ผู้นำของเข้า ชำระภาษีการค้าในวันที่ชำระอากรขาเข้าหรือวางหลักประกันหรือจัดให้มีผู้ค้ำ ประกันเงินอากรขาเข้า ซึ่งก็คือวันที่ 24 ธันวาคม 2518 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงไว้และวางเงินเพื่อประกันค่าภาษีอากร แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยทั้งสองไป อายุความ ของค่าภาษีการค้านี้จึงมีกำหนดสิบปี โดยต้องเริ่มนับแต่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2418 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่โจทก์ ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 เกินกำหนดเวลาสิบปี คดีจึง ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรขาเข้า และศาลอาญาพิพากษาลงโทษเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2524 คดีถึงที่สุดโดย จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การฟ้องเรียก ค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลมีอายุความสิบปี นับแต่คดีอาญาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 เดิม (มาตรา 193/32 ที่แก้ไขใหม่) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 คดีไม่ขาด อายุความนั้น เห็นว่า ค่าภาษีการค้านั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 จัตวา, 78 เบญจ (1) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 20) ถือว่าผู้นำของเข้าได้ขายสินค้านั้น ๆ ในวันที่ชำระอากรขาเข้าหรือวางหลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเงินอากรขาเข้าจึงเป็นอันให้เกิดหนี้และจะต้องชำระค่า ภาษีการค้าในวันเดียวกันดังวินิจฉัยข้างต้น แต่การหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรโดย เฉพาะในคดีนี้จำเลยทั้งสองได้สำแดงราคาสินค้าเท็จ ในวันที่ขอให้พนักงานเจ้าหน้า ที่ของรัฐจึงจะเป็นความผิดทางอาญา การกระทำผิดในทางอาญานี้หาได้ก่อให้เกิด หนี้ค่าภาษีอากรในทางแพ่งในขณะเดียวกับการกระทำผิดในทางอาญาโดยตรงไม่ แต่หนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวเกิดเพราะการนำเข้าสำเร็จและกฎหมายให้ถือว่าได้ ขายสินค้านั้น ๆ ดังกล่าวข้างต้น คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดัง ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง หนี้ค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลจึงมีอายุความ สิบปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2518 หาใช่มีอายุความสิบปีนับแต่เมื่อคดีอาญา ถึงที่สุดดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไป ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
(กู้เกียรติ สุนทรบุระ - นิเวศน์ คำผอง - สะสม สิริเจริญสุข)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021