เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่528/2537

 

บริษัทปัญญามิตร จำกัด

โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย

เรื่อง รายจ่ายที่บังเกิดเป็นทุนรอนหรือทรัพย์สิน

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องป.รัษฎากร (มาตรา 65 ตรี (5))

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าหนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องแล้ว

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้ประเมินและเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2518 เพิ่มเติมเป็นเงิน 113,181.91 บาท เงินเพิ่ม 22,636.38 บาท รวมเป็นเงิน 135,818.29 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 เพิ่มเติมเป็นเงิน 712,047.88 บาท เงินเพิ่ม 142,809.50 บาท รวมเป็นเงิน 854,856.98 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 เพิ่มเติมเป็นเงิน 1,795,370.86 บาท เงินเพิ่ม 359,078.09 บาท รวมเป็นเงิน2,154,444.55 บาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 เพิ่มเติมเป็นเงิน20,911,040.33 บาท เงินเพิ่ม 4,182,208.07 บาท รวมเป็นเงิน25,093,248.40 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินให้ลดภาษีที่เรียกเก็บและเงินเพิ่ม โดยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2518 คงเรียกเก็บภาษี 27,460.69 บาท เงินเพิ่ม 5,492.13 บาท รวมเป็นเงิน 32,952.62 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 คงเรียกเก็บภาษี 456,027.41 บาท เงินเพิ่ม 91,205.48 บาท รวมเป็นเงิน 547,232.89 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 คงเรียกเก็บภาษี 1,586,828.10 บาท เงินเพิ่ม 309,365.62 บาท รวมเป็นเงิน 1,856,193.72 บาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 คงเรียกเก็บภาษี 20,904,056.17 บาท เงินเพิ่ม4,180,811.23 บาท รวมเป็นเงิน 25,084,867.40 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์... สำหรับรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนนั้น โจทก์อ้างว่าเหล็กแผ่นที่ซื้อมาทำแบบส่วนใหญ่จะนำมาตัดกว้าง1 เมตร ยาว 1 เมตร นำมาทำเป็นแบบ เมื่อปูนแห้งต้องงัดเหล็กแผ่นออก ทำให้เหล็กแผ่นโค้งงอหมดสภาพไปโดยใช้งานไม่ถึง 6 เดือน หลังจากนั้นก็จะมีสภาพเป็นเศษเหล็ก ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ซื้อเหล็กแผ่นดังกล่าวมาเพื่อใช้ทำแบบในการก่อสร้างซึ่งโดยสภาพเหล็กแผ่นเป็นวัตถุที่คงทนถาวรไม่เสื่อมสภาพโดยง่าย เมื่อนำมาใช้ทำแบบในการก่อสร้างย่อมสามารถใช้ได้หลายครั้ง นายสว่าง ตั้งนิสสัยตรงพยานโจทก์เองก็เบิกความยอมรับในขอนี้ และตามรายงานการตรวจสอบเอกสารหมาย จ.ล.1 แผ่นที่ 14 ปรากฏว่าเหล็กแผ่นดังกล่าวมีอายุการใช้งานได้มากกว่า 1 ปี ด้วยเหตุนี้รายจ่ายค่าเหล็กแผ่นดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นรายจ่ายที่บังเกิดเป็นทุนรอนหรือทรัพย์สินของโจทก์ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน และไม่ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละปี โดยเพียงแต่คำนวณหักเป็นค่าเสื่อมราคาให้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีจึงเป็นการชอบแล้ว...

พิพากษายืน

(จรัญ หัตถกรรม - เจริญ นิลเอสงฆ์ - สุวรรณ ตระการพันธุ์)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021