คำพิพากษาฎีกาที่5422/2536 |
|
บ.ไทยเชลล์เอ็กซพลอเรชั่นแอนด์โปรดักชั่น จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร (ม.40, 70) | |
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และการประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลกับงดหรือลดเงินเพิ่มแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ให้แก่บริษัทดิจิคอล จำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา70 (1) ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน โจทก์ได้รับสัมปทานในการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ในการดำเนินการสำรวจน้ำมันโจทก์ได้ว่าจ้างให้บริษัทดิจิคอล จำกัด แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาทำการแปลข้อมูลจากคลื่นเสียงออกมาเป็นภาพ และบริษัทนี้ได้รับจ้างทำการแปลข้อมูลให้ผู้ว่าจ้างทั่วโลกในการจ้างดังกล่าวโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างให้บริษัทดิจิคอล จำกัด ในปี 2523, 2524และ 2525 เป็นเงิน 3,134,552.42 บาท 7,376,441.99 บาท และ779,350.38 บาท ตามลำดับ โดยมิได้หักภาษีและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ที่บริษัทดิจิคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศ ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้โจทก์ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อจ่ายเงินได้ดังกล่าวโจทก์ต้องหักภาษีและนำส่งเจ้าพนักงานของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่หักภาษีไว้จึงต้องรับผิดชอบในจำนวนเงินภาษีที่ต้องหักไว้และประเมินให้เรียกเก็บภาษีและเงินเพิ่มจากโจทก์ในปี 2523, 2534 และ 2525จำนวน 934,365.73 บาท 2,206,932.60 บาท และ 225,163.51 บาทตามลำดับ โจทก์เห็นว่าเป็นเงินได้พึงประเมินจากการประกอบธุรกิจตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยมีว่า เงินได้พึงประเมินที่โจทก์จ่ายให้บริษัทดิจิคอล จำกัด เป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) หรือเงินได้จากการธุรกิจตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร.... พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กิจการของบริษัทดิจิคอล จำกัด ซึ่งรับทำการแปลข้อมูลทางธรณีวิทยาจากผู้ว่าจ้างทั่วไป ถือเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง และธุรกิจในการรับแปลข้อมูลถือเป็นการรับทำงานให้ด้วยจึงต้องพิจารณาว่าเงินได้จากกิจการดังกล่าวจะถือว่าเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) หรือเงินได้จากการธุรกิจตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในประมวลรัษฎากร มาตรา 40 แบ่งเงินได้ไว้ 8 ประเภท เงินได้ประเภทที่ 2 เป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ฯลฯ ส่วนประเภทที่ 8 เป็นเงินได้จากการธุรกิจการพาณิชย์ ฯลฯ ในการคำนวณภาษีเงินได้ประเภทต่าง ๆ กฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายไม่เหมือนกัน เฉพาะเงินได้ประเภทที่ 2 กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาจ่ายร้อยละ 30 แต่ไม่เกิน 30,000 บาท แต่ปัจจุบันยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาจ่ายร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 42 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเงินได้ประเภทที่ 8 มาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ระบุกิจการต่าง ๆ ไว้หลายประเภท โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาจ่ายตั้งแต่ร้อยละ 60 จนถึง 85 และในมาตรา 8 ทวิ ระบุว่า เงินได้พึงประเมนตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มิได้ระบุไว้ในมาตรา 8 ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรจึงเห็นได้ว่า เงินได้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร จะเป็นเงินได้ประเภทใดนั้นต้องพิจารณาถึงรายจ่ายและลักษณะของการงานที่ทำประกอบด้วย สำหรับรายจ่ายของบริษัทดิจิคอล จำกัด ในการรับแปลข้อมูลให้โจทก์นั้น นายจักรกฤษณ์ ลลิตกุล นายบัณฑิต อุตถากร นายบัณฑิตเจริญทรัพย์ และนายไมเคิล จู พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า ในการทำงานแปลข้อมูลของบริษัทดิจิคอล จำกัด จะต้องกระทำหลายขั้นตอน นับแต่จัดหมวดหมู่ของสัญญาณปรับระดับข้อมูลเข้าสู่แนวระดับมาตรฐาน ปรับคลื่นเสียงให้อยู่ในระดับเดียวกัน ปรับตำแหน่งสัญญาณให้ถูกต้อง มีการกรองความถี่ให้อยู่ในช่วงที่เห็นชัดเจนและกำจัดความสับสน แล้วจึงจะแสดงออกมาเป็นภาพพิมพ์ ในการดำเนินงานต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มีเทคโนโลยีสูง เครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมซับซ้อน บุคลากรต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 70 ของรายได้ ส่วนจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าการทำงานดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายไม่มาก เพียงแต่นายอนันต์ สิริแสงทักษิณ พยานจำเลยเบิกความว่า บริษัทดิจิคอล จำกัด ได้รับค่าจ้างจากโจทก์เป็นเงินถึง 506,182 เหรียญสหรัฐ แต่บริษัทดิจิคอล จำกัด ได้ว่าจ้างต่อให้บริษัทเอิรท์เสริท โปรเซสซิ่งอิงค์ จำกัด แห่งประเทศสิงคโปร์ แปลข้อมูลโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเงินปีละ 1,240,650 บาท พยานเห็นว่า บริษัทดิจิคอล จำกัด ว่าจ้างต่อโดยจ่ายค่าจ้างต่ำมาก แสดงว่าค่าใช้จ่ายของบริษัทดิจิคอล จำกัด น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าจ้างที่บริษัทดิจิคอล จำกัด ได้รับจากโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บริษัทดิจิคอล จำกัด ว่าจ้างต่อและจ่ายค่าจ้างต่ำไม่เป็นพยานหลักฐานแน่นอนที่จะชี้ว่าการดำเนินธุรกิจในการแปลข้อมูลจะมีค่าใช้จ่ายน้อยอย่างที่พยานจำเลยเข้าใจ เพราะบริษัทเอิรท์เสริท โปรเซสซิ่งอิงค์ จำกัด จะดำเนินการให้โจทก์ทุกขั้นตอน หรือเพียงบางขั้นตอนก็ไม่อาจทราบได้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้เงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ฯลฯ เงินได้ประเภทนี้ควรอยู่ในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน คือลักษณะงานที่ทำมีค่าใช้จ่ายเท่ากัน ส่วนเงินได้ตามมาตรา 70 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ ฯลฯ เป็นเงินที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงประมวลรัษฎากรจึงยอมให้หักค่าใช้จ่ายมากกว่าเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่องานที่บริษัทดิจิคอล จำกัด รับทำให้โจทก์เป็นเงินที่มีค่าใช้จ่ายสูง เงินได้ที่โจทก์จ่ายให้บริษัทดิจิคอล จำกัด จึงมิใช่เงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นเงินได้จากการธุรกิจตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษานั้นชอบแล้ว" พิพากษายืน (ก้าน อันนานนท์ เจริญ นิลเอสงฆ์ สุนพ กีรติยุติ) |