เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4991/2536

 

บ.บูนิบรอส เอนจิเนียริ่ง จำกัด

โจทก์

บ.จิ้วฮวด จำกัด กับพวก

จำเลย

กฎหมายที่เกี่ยวข้องแพ่ง ตั๋วเงิน ลายมือชื่อ (ม. 900) ลายมือชื่อ (ม. 902)พระราชบัญญัติ
ประมวลรัษฎากร (ม. 118)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชลบุรี จำนวน 2 ฉบับ เช็คทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวต่างลงวันที่ 31 มีนาคม 2529 ฉบับละ 500,000 บาท เช็คทั้ง2 ฉบับดังกล่าว จำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่ายมอบให้แก่ผู้มีชื่อนำเช็คทั้ง 2 ฉบับเรียกเก็บเงิน แต่ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 9 เมษายน2529 โดยอ้างว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย และตามตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้ไม่ต้องมีประทับ" จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ และการที่จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามความในเช็คทั้ง 2 ฉบับในฐานะส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมรับชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า เช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เป็นเช็คที่นายศรีไทย ศรีเวทย์บดี กับ นายสุรชัย ภูริเวทย์คุณากร สมคบร่วมกันปลอมแปลงตัวเลขและตัวหนังสือเขียนกรอกลงไปในเช็คพร้อมกับเช็คอื่นอีก 1 ฉบับโดยนายศรีไทยเป็นผู้เขียนวันเดือนปีจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวหนังสือ พร้อมทั้งประทับตราของจำเลยที่ 1 ลงไปในเช็คดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอม ต่อมานายศรีไทยและนายสุรชัยซึ่งทั้งสองเป็นกรรมการของบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัดได้ร่วมกันทำกลฉ้อฉลลวงจำเลยทั้งสองโดยทำเป็นโอนเช็คพิพาทกับเช็คอื่นอีก1 ฉบับ รวม 3 ฉบับ ที่ไม่มีมูลค่าและมูลหนี้ใด ๆ โดยมิใช่โอนกันจริง ๆ ไปให้แก่โจทก์ซึ่งมีนายสุรชัยและนายศรีไทยเป็นกรรมการอยู่เช่นกัน จึงเปรียงเสมือนโอนเช็คพิพาทให้แก่คนเดียวกัน แล้วโจทก์ก็นำเช็คพิพาทไปฟ้องเป็นคดีอาญา ส่วนเช็คอีก 1 ฉบับนั้น นายสุรชัยนำไปฟ้องเป็นคดีอาญา โจทก์มีทุนจดทะเบียนเพียง30,000 บาท งบดุลปี 2527 กับ 2528 และบัญชีรับจ่ายของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ใด ๆ ตามจำนวนเงินในเช็คพิพาทต่อบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัดหรือต่อผู้มีชื่อคนอื่น เมื่อปี 2528 จำเลยทั้งสองไม่เคยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 2ฉบับชำระหนี้ให้แก่ผู้มีชื่อหรือผู้ใด เพราะจำเลยทั้งสองมิได้เป็นลูกหนี้ผู้มีชื่อหรือผู้ใด เช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีดวงตราใด ๆ ประทับในเช็ค โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อเดือนสิงหาคม2524 จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ซึ่งมีต้นขั้วเช็คตามสำเนาต้นขั้วเอกสารหมาย ล.45 แผ่นที่ 4 และ 17 ตามลำดับ นายศรีไทย ศรีเวทย์บดี กรรมการผู้จัดการบริษัทบราเดอร์จำกัด เป็นผู้กรอกจำนวนเงิน และเขียนต้นขั้วเช็คพิพาทคดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายชำระหนี้เงินยืมที่จำเลยที่ 2 ยืมจากนายศรีไทยและบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด หรือไม่ โจทก์มีนายศรีไทยซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนเบิกความว่า เมื่อเดือนสิงหาคม2524 จำเลยที่ 2 ได้มาพูดคุยกับพยานขอให้ช่วยพัฒนาสินค้าที่จำเลยที่ 2 ผลิตและขอยืมเงินจากพยานเพื่อขยายโรงงาน และจะให้บริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด ซึ่งนายศรีไทยเป็นกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่จำเลยที่ 2 ผลิตพยานจึงได้ให้ยืมเงินไป 500,000 บาท โดยซื้อตั๋วแลกเงินที่ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสีลม ให้ไปตามสำเนาตั๋วแลกเงิน เอกสารหมาย ล.43 แผ่นที่ 1จำเลยที่ 2 ก็ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.5 ให้พยานไว้โดยจำเลยที่ 2 ขอให้พยานเป็นคนเขียนข้อความในเช็คและต้นขั้วเช็คปรากฏตามเอกสารหมาย ล.45 แผ่นที่ 17 ต่อมาปลายเดือนสิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2 มาขอยืมเงินจากบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด อีก 500,000 บาท พยานในนามของบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด ได้ไปขอยืมเงินจากนายซีฟอง แซ่บู่ พี่ชายของพยานมาให้ โดยนายซีฟองเบิกเงินจากบริษัทเงินทุนและซื้อตั๋วแลกเงินธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสีลมและสาขาสุรวงศ์ รวมเงิน 500,000 บาท ให้ตามสำเนาตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.43 แผ่นที่ 1 และที่ 2 ซึ่งโจทก์มีตั๋วแลกเงินดังกล่าวสนับสนุนคำเบิกความนอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยอมรับว่า นายศรีไทยได้เขียนข้อความในต้นขั้วเช็คพิพาทด้วย ปรากฏว่าต้นขั้วเช็คพิพาทเอกสารหมาย ล.45 แผ่นที่ 4 มีข้อความว่า "แลกเงิน" นั้น ก็หมายความว่าออกเช็คฉบับดังกล่าวแลกเงินสดหรือออกไว้ให้เพื่อชำระหนี้เงินยืมนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นข้อความในต้นขั้วเช็คบางฉบับตามสำเนาต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.44 ซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างส่งยังระบุว่า "จ่ายคืนเงินยืมบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด" แสดงว่าจำเลยทั้งสองเคยยืมเงินจากบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด จึงออกเช็คชำระหนี้อีกด้วย สำหรับจำเลยทั้งสองคงให้การต่อสู้เพียงว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่นายศรีไทยกับนายสุรชัยปลอมแปลงตัวเลขและตัวหนังสือพร้อมทั้งประทับตราของจำเลยที่ 1 ลงไปในเช็คดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองมิรู้เห็นยินยอม โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริตเท่านั้น หาได้ต่อสู้ ถึงมูลเหตุที่จำเลยออกเช็คพิพาทไม่ เฉพาะอย่างยิ่ง จำเลยทั้งสองรับว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า นายศรีไทยยืมเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปแลกเงินสดจากญาติของนายศรีไทย นั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยทั้งสองน่าเชื่อว่าการที่นายศรีไทยและบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด ได้ให้จำเลยที่ 2 ยืมเงินไปก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 ต้องการนำไปขยายโรงงานผลิตสินค้าที่ตกลงจะให้บริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายนั่นเองอันเป็นการเกื้อกูลกัน โดยไม่คิดดอกเบี้ย และไม่มีกำหนดชำระคืน ดังนั้นจึงไม่ได้มีการลงวันที่ในเช็คจนกระทั่งได้เกิดกรณีพิพาทกันระหว่างบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัดกับจำเลยทั้งสอง ถึงกับยกเลิกสัญญาการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า นายศรีไทยและบริษัทยูนิบราเดอร์ จำกัด จึงได้ทวงถามเงินตามเช็ค เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายสุรชัยผู้ทรงคนต่อมาและโจทก์ผู้ทรงคนปัจจุบันรับโอนเช็คพิพาทมาโดยไม่สุจริต โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นั้น เห็นว่า เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงหาต้องคำนึงถึงการรับโอนของผู้ทรงคนต่อมาไม่ เพราะถึงอย่างไรก็ตามจำเลยก็ไม่สามารถยกข้อต่อสู้ที่ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ขึ้นต่อสู้ผู้ทรงคนก่อนได้อยู่แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับสั่งจ่ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2524 แต่ดวงตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ประทับลงในเช็คเป็นดวงตราแบบใหม่ ซึ่งบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้มาก่อนเพิ่งใช้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2525 นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงดวงตราสำคัญสนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งโจทก์รับในคำแถลงการณ์ปิดคดีว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งไปยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงในวันที่8 มกราคม 2525 และได้รับอนุมัติในวันที่ยื่นคำขอตรงกับวันที่ออกเช็ค แต่ไม่แจ้งชัดว่าเป็นตราสำคัญดวงใด จำเลยที่ 1 อาจใช้ดวงตราใหม่ซึ่งทำขึ้นล่วงหน้าประทับในเช็คพิพาทก็ได้เท่านั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงดวงตรา เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2525 ดังนั้น ก่อนหน้านี้การประทับดวงตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นดวงตราแบบเก่า การที่เช็คพิพาทประทับดวงตราสำคัญแบบใหม่ที่จำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใช้ และตามใบคืนเช็คธนาคารแจ้งว่า ตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้ไม่มีตราประทับ แสดงว่าเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ถึงอย่างไรก็ตามการที่เช็คพิพาทลงลายมือชื่อบุคคลหลายคนมีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลย หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผล ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดชอบของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้นซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 902 ดังนั้น เมื่อเช็คพิพาทจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดตามเช็คพิพาท จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาข้อสุดท้ายว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เพราะปิดอากรแสตมป์ไม่ครบนั้น เห็นว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526 มาตรา 14 แก้ไขบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะแห่งตราสาร ข้อ 12 กำหนดค่าอากรแสตมป์เช็คเป็นฉบับละ 3 บาท ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2526 เป็นต้นมา ย่อมหมายความว่า เช็คซึ่งสั่งจ่ายตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2526 เป็นต้นมา ต้องชำระค่าอากรแสตมป์ 3 บาทสำหรับเช็คพิพาทลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 31 มีนาคม 2529 ดังนั้น จึงต้องชำระค่าอากรแสตมป์ฉบับละ 3 บาท แต่ปรากฏว่าเช็คพิพาทชำระค่าอากรแสตมป์ไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนดผลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หมายถึงจะใช้ต้นฉบับคู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาใช่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ สำหรับคดีนี้ แม้จะไม่รับฟังเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นพยาน แต่จำเลยทั้งสองก็รับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท ทั้ง 2 ฉบับ เพียงแต่อ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามเช็คเท่านั้น ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทและต้องรับผิดดังที่ได้วินิจฉัย ข้อต่อสู้ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

(สุวรรณ ตระการพันธุ์ เริงธรรม ลัดพลี ปรีชา เฉลิมวณิชย์)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021