เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2864/2530

 

บริษัท มโนยนต์ชัย จำกัด

โจทก์

กรมศุลกากร

จำเลย

เรื่องขอคืนเงินค่าภาษีอากร

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องวิธีพิจารณาความแพ่ง คู่ความ (ม.55)พระราชบัญญัติ ประมวลรัษฎากร (ม.30)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นประเภทเครื่องไฟฟ้าใช้กับรถยนต์หรือยานยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า เอฟ.ดี. หลายประเภทจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร รวม 12 ครั้ง โดยโจทก์ได้สำแดงรายการสินค้าและพิกัดอัตราศุลกากรตามใบสั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าของโจทก์ทุกครั้ง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งว่า สินค้าของโจทก์สามารถใช้ทดแทนกับอะไหล่แท้ได้จึงต้องถือเป็นอะไหล่ที่ใช้ทดแทนอะไหล่แท้ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 โจทก์จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากรที่ 34/2528 จะต้องแสดงหมายเลขอะไหล่แท้กำกับอะไหล่เครื่องไฟฟ้าใช้กับรถยนต์หรือยานยนต์ที่โจทก์นำเข้ามาในใบขนสินค้าขาเข้า ผลของข้อกำหนดตามประกาศกรมศุลกากรดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ในการประเมินอากรขาเข้ารวมตลอดถึงภาษีการค้าเป็นราคาของอะไหล่แท้ที่กำกับอะไหล่เครื่องไฟฟ้าใช้กับรถยนต์หรือยานยนต์ที่โจทก์นำเข้า มิใช่ราคาตามที่ปรากฏในใบแจ้งราคาสินค้าที่โจทก์ได้ยื่นเสนอต่อจำเลยโจทก์ได้ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามจำนวนที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและวางเงินประกันสำหรับค่าภาษีอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินเพิ่มเติมเฉพาะการนำเข้าในสองครั้งแรก ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าในสองครั้งนั้นมาให้โจทก์เพื่อให้เสียภาษีอากรเพิ่มเติม 104,083 บาท และ154,798 บาท โจทก์ได้โต้แย้งการประเมินราคาสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแล้ว สำหรับการนำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 10 ฉบับหลังโจทก์จำต้องเพิ่มราคานำเข้าตามวิธีการประเมินราคาสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย และจำต้องชำระอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มรวมเป็นเงิน 5,720,158 บาท และโจทก์ได้สงวนสิทธิโต้แย้งราคาไว้ต่ำเลยก่อนที่จำเลยจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ว่าจะยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรในส่วนที่เกิน การประเมินภาษีอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตามคำฟ้อง และตามประกาศที่จำเลยได้ประกาศใช้เกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์นั้นเป็นคนละกรณีกับสินค้าที่โจทก์นำเข้า สินค้าที่โจทก์นำเข้ามีเครื่องหมายการค้าแสดงชัดเจนและจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป การที่จำเลยมีคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2537 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินภาษีอะไหล่ยานยนต์ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2527 ให้ประเมินราคาเรียกเก็บค่าอากรสำหรับสินค้าอะไหล่ยานยนต์ที่ใช้ทดแทนอะไหล่แท้โดยเปรียบเทียบกับราคาของอะไหล่ยานยนต์ที่ใช้ทดแทนอะไหล่ที่แท้จริงหรือไม่เป็นเรื่องของผู้ซื้อเอง แต่ข้อสำคัญสินค้าที่โจทก์นำเข้าไม่ได้นำไปใช้กับยานยนต์หรือรถยนต์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการประเมินราคาเพื่อเพิ่มการจัดเก็บภาษีอากรแต่อย่างเดียว สินค้าของโจทก์สามารถใช้กับเครื่องยนต์หลายแบบหลายชนิด ไม่มีข้อจำกัดโดยเฉพาะว่าจะต้องใช้เป็นอะไหล่ยานยนต์ที่ใช้ทดแทนอะไหล่แท้ จำเลยไม่มีอำนาจนำราคาอะไหล่ยานยนต์หรือรถยนต์ของโจทก์เพื่อจัดเก็บภาษีอากรให้สูงขึ้น การที่จำเลยเรียกเก็บภาษีอากรของโจทก์โดยยึดถือราคาของสินค้าอะไหล่แท้ ดังเช่นอะไหล่ที่ใช้กับรถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ เช่นยี่ห้อนิวอีราซึ่งมีเมืองกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น โดยถือเกณฑ์ให้แตกต่างกันไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาสินค้ายี่ห้อนิวอีรา ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 จึงมิชอบเพราะมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยต้องคืนเงินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่เรียกเก็บไว้เกินจำนวน 943,289 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 77,785.78 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,021,074.78 บาท ขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้อง และคืนเงินค่าภาษีอากรและดอกเบี้ยรวม 1,021,074.78 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 943,289 บาท นับจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่า ราคาสินค้าที่ประเมินเพิ่มขึ้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ทั้งโจทก์ก็ยอมชำระตามราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมิน และมิได้โต้แย้งราคาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรที่อ้างว่าต้องเสียเพิ่ม โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษา ให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข 18 และ 19 คือ ฉบับเลขที่ 041 - 61816 และเลขที่ 064 - 41396 เฉพาะอากรขาเข้า ให้จำเลยคืนเงินค่าอากรขาเข้าที่โจทก์ชำระเกินไปตามใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับ และคืนภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับที่ 3 - 12 คือ ฉบับเลขที่ 071 - 60412, 071 - 62653, 081 - 63230,091 - 63462, 111 - 60321, 022 - 61067, 032 - 63800, 062 - 64259, 082 - 40451 และ 082 - 62497 แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินภาษีอากรที่จำเลยจะต้องคืนนับแต่วันที่โจทก์ชำระภาษีอากรเกินไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ยุติว่า โจทก์เป็นผู้สั่งสินค้าประเภทเครื่องไฟฟ้าใช้กับรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อปี 2531 ถึง 2532 โจทก์ได้นำเข้าสินค้าประเภทอะไหล่ทดแทนอะไหล่แท้ ยี่ห้อเอฟ.ดี. รวม 12 ครั้ง โจทก์ได้สำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าตามใบตราส่งและบัญชีราคาสินค้า แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ยอมรับราคาแล้วอาศัยคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 สั่งให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าโดยเทียบกับราคาอะไหล่ทดแทนอะไหล่แท้ ยี่ห้อนิว-อีรา โดยต้องเพิ่มราคาสินค้าขึ้นอีก 13.79 เปอร์เซ็นต์ตามใบขนสินค้าทั้ง 12 ฉบับ โจทก์จึงได้ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามจำนวนที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และวางเงินประกันสำหรับค่าภาษีอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินเพิ่มเติมเฉพาะการนำเข้าใน 2 ฉบับแรก ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับใบขนสินค้าขาเข้า 2 ฉบับนั้น ให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติม 104,083 บาท และ 154,798 บาท ส่วนการนำเข้าตามใบขนสินค้า 10 ฉบับหลังโจทก์ได้เพิ่มราคาสินค้าตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เคยประเมินไว้เมื่อโจทก์นำสินค้าเข้าตามใบขนสินค้า 2 ฉบับแรก และชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มรวมเป็นเงิน 5,720,158 บาท โดยโจทก์ได้สงวนสิทธิโต้แย้งราคาไว้ด้านหลังของใบขนสินค้า 10 ฉบับหลัง ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบสินค้าให้แกโจทก์ว่าจะยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรในส่วนที่เกินเป็นเงิน 684,408 บาท สำหรับภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลที่โจทก์อ้างว่าชำระเกินนั้นโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

ปัญหาแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่าการประเมินค่าภาษีอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ กำหนดไว้ว่าการคำนวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของ ราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้นในเรื่องของราคาของได้กำหนดความหมายไว้ในมาตรา 2 ว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่าราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด ในข้อนี้ได้ความจากนายสมชายอารยเมธาเลิศ เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด กับนายจุฑาพล ปายะฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ธนาคารศรีนคร จำกัด ว่า การสั่งซื้อสินค้าพิพาทนี้ โจทก์ได้สอบถามราคาของสินค้าที่จะสั่งซื้อไปยังบริษัทผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่น ทางบริษัทผู้ขายก็จะส่งใบแจ้งราคาสินค้ามาให้เมื่อโจทก์ตกลงซื้อตามรายการ และราคาดังกล่าว โจทก์ได้ไปขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ธนาคารและมีการชำระราคาสินค้าตามที่เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไป เมื่อสินค้าพิพาทมาถึง โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าโดยได้สำแดงราคาตรงตามใบแจ้งราคาของผู้ขาย นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายอะซาทาโร ฟูรูฮาชิ ประธานกรรมการบริษัทผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นและนายเคนโซ่ ฟูรูอาชิ ผู้จัดการฝ่ายส่งสินค้าออกของบริษัทผู้ขายดังกล่าว เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า บริษัทผู้ขายได้ขายสินค้าพิพาทให้แก่โจทก์ตามราคาในใบแจ้งราคาสินค้า และได้รับชำระราคาสินค้าพิพาทผ่านทางธนาคารตามใบแจ้งราคาสินค้าจริง การดำเนินการค้าแบบเดียวกันนี้ บริษัทผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์เครือเดียวกับบริษัทโจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยมาประมาณ 20 ปีแล้ว โจทก์มีพยานนำสืบให้เห็นได้ว่าสินค้าพิพาทมีราคาตามที่โจทก์ได้สำแดงไว้แต่แรก การประเมินราคาสินค้าพิพาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแทนที่จะนำราคาสินค้าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์เคยสั่งเข้ามาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2511 ตลอดมาจนถึงปัจจุบันมาเปรียบเทียบราคาเพื่อหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกลับประเมินราคาสินค้าพิพาท โดยถือเกณฑ์ให้แตกต่างกันไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาสินค้ายี่ห้อนิวอีรา ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 ซึ่งสินค้าที่นำมาเปรียบเทียบนั้นมิใช่ชนิดเดียวกันคุณภาพอาจแตกต่างกันจึงเป็นการประเมินราคาสินค้าที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลไม่สอดคล้องกับคำจำกัดความของคำว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 ราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์สำแดงไว้ในตอนแรกจึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมิชอบ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้า 10 ฉบับหลังหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ได้ในข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล จำเลยเป็นเพียงผู้เก็บแทนกรมสรรพากร โจทก์ต้องฟ้องเรียกคืนจากกรมสรรพากรนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล การที่จำเลยเรียกเก็บเกินจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกส่วนที่เก็บเกินคืนได้โดยหาจำต้องฟ้องกรมสรรพากรด้วยไม่ และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ไม่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม มาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้า 10 ฉบับหลังนี้ โจทก์เป็นผู้ชำระเกินเอง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้ประเมิน หาใช่เป็นการฟ้องเรียกคืนเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินโดยมิชอบไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษายืน

(เพ็ง เพ็งนิติ เจริญ นิลเอสงฆ์ ประดิษฐ์ เอกมณี)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021