เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2346/2536

 

นายอารอบ ปทุมแก้ว

โจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย

กฎหมายที่เกี่ยวข้องป.รัษฎากรฯ มาตรา 39, 40(8), 42 (13)

เมื่อเงินมัดจำ จำนวน 1,000,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของเงินชำระค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย และเงินจำนวน 5,000,000 บาท เป็นเงินส่วนหนึ่งของค่าที่ดิน ส่วนอีก 477,500 บาท เป็นดอกเบี้ยที่ผู้จะซื้อจ่ายให้แก่ผู้จะขายเพื่อตอบแทนในการที่ผู้จะขายผัดการชำระเงินออกไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นเงินที่ผู้จะขายได้รับเนื่องจากสัญญาจะซื้อจะขาย เงินได้ทั้งหมดจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตาม ป.ร.ก. มาตรา 39 แม้ว่าต่อมาผู้จะซื้อจะได้ยื่นฟ้องผู้จะขายขอให้บังคับผู้จะขายจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน หากโอนไม่ได้ให้ผู้จะขายคืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับไว้พร้อมเบี้ยปรับก็ตาม เมื่อเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้จะขายได้รับไว้จากผู้จะซื้อเพื่อชำระค่าที่ดินบางส่วน และเป็นเงินค่าดอกเบี้ยที่ผู้จะขายได้รับไว้เนื่องจากสัญญาจะซื้อขายที่ดิน เงินได้นั้นย่อมตกเป็นของผู้จะขายในแต่ละปีภาษีแล้ว ผู้จะขายย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีภาษีที่ได้รับเงินได้นั้นมา และเงินได้ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทต่าง ๆ ดังที่ระบุไว้ใน มาตรา 40 (1) ถึง (7) แห่ง ป.ร.ก. จึงจัดเป็นเงินได้จากการอื่น ๆ ตามมาตรา 40 (8)
ดอกเบี้ยที่ผู้จะซื้อจ่ายให้แก่ผู้จะขายเพื่อตอบแทนในการที่ผู้จะขายผัดการชำระเงินออกไป ถือได้ว่าเป็นเงินที่ผู้จะขายได้รับเนื่องจากสัญญาจะซื้อจะขาย เงินได้ดังกล่าวจึงมีมูลหนี้มาจากสัญญาหาใช่มูลหนี้ละเมิดไม่ เงินดังกล่าวจึงมิใช่เงินได้พึงประเมินประเภทค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด อันจะได้รับยกเว้นภาษีตาม ป.ร.ก. มาตรา 42 (13)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021