เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1598/2530

 

ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด

โจทก์

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

เจ้าหนี้

นายวีรเดช ทรงชัยกุล ที่ 1 นายสมเพชร ทรงชัยกุล ที่ 2

จำเลย

เรื่อง ล้มละลาย (ชั้นขอรับชำระหนี้)

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติ ประมวลรัษฎากร (ม.5,12)

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงวันที่ 8 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2534

คดีนี้มีมูลสืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องนายวีรเดช ทรงชัยกุลที่ 1นางสมเพชร ทรงชัยกุล ที่ 2 เป็นจำเลยขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองไว้เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2528 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายโดยนายปถม ประถมไชย ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าภาษีอากรค้างจำนวน 5,499,692.44 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า กรมสรรพากร เป็นผู้มีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องในมูลค่าหนี้ค่าภาษีอากรหรือยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหรือยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรทางศาล คงมีเพียงอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107(1)

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเงิน 5,499,692.44 บาท

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาแต่เพียงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมีอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 ค้างชำระค่าภาษีอากรโดยไม่ชำระภายในกำหนดและไม่อุทธรณ์จึงเป็นภาษีอากรค้าง แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 5 จะบัญญัติให้กรมสรรพากรมีอำนาจหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับภาษีอากรประเภทนี้ก็ตามแต่ตามมาตรา 12 วรรคสอง บัญญัติว่า "เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร" กับวรรคสาม บัญญัติว่า" ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีตามวรรคสองภายในเขตท้องที่จังหวัดหรืออำเภอนั้น"จึงเป็นกรณีพิเศษเพื่อการได้รับชำระภาษีอากรในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครผู้ว่าราชหวัดมีอำนาจอย่างกับอธิบดีกรมสรรพากรที่จะสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ภายในเขตจังหวัดในเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตามกฎหมายที่จะยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างได้โดยมิต้องได้รับมอบอำนาจจากกรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากกรมสรรพากรเช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งและคำพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

นายวิทวัส อยู่วัฒนา

นายบุญส่ง วรรณกลาง

นายประสิทธิ์ แสนศิริ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2021