คำพิพากษาฎีกาที่17/2536 |
|
กรมศุลกากร กับพวก | โจทก์ |
หจก. ถิระพล กับพวก | จำเลย |
เรื่อง ภาษีอากร |
|
กฎหมายที่เกี่ยวข้องแพ่ง ดอกเบี้ย (ม.224) หุ้นส่วนบริษัท สอดเข้าจัดการ (ม.1088) | |
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 สั่งและนำสินคาจากประเทศเกาหลีใต้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าแสดงรายการสินค้าว่า "MEE HWA" BRAND PORTABLE STEEL CASH BOX WITH ALARM DEVICE หีบใส่เงินประเภทพิกัดที่ 83.03 อัตราอากรร้อยละ 15 เป็นเงินอากรขาเข้า 25,587.28 บาท ภาษีการค้า 15,242.35 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 1,524.23 บาท จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรและรับสินค้าไปแล้วซึ่งไม่ถูกต้อง ความจริงสินค้าดังกล่าวเป็นกล่องใส่เงินทำด้วยเหล็กมีขนาดเล็ก ฝามีปุ่มรหัสเพียงหมุนเลขตัวเดียวก็เปิดได้ ภายในทำด้วยเหล็กบาง มีลิ้นชักใช้เก็บเงินได้ แต่ไม่มีลักษณะมั่นคงแข็งแรง ทั้งไม่อาจป้องกันไฟและโจรกรรมได้ เป็นของชนิดที่ตามธรรมดาใช้ในบ้านเรือน ซึ่งตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 2 พิกัด อัตราอากรขาเข้าตอนที่ 83 หีบใส่เงินตามประเภทพิกัดที่ 83.03 ลักษณะของโดยทั่วไปจะต้องเป็นหีบที่มีลักษณะมั่นคงแข็งแรง ทั้งจะต้องป้องกันไฟและโจรกรรมได้ ทำด้วยโลหะสามัญ สินค้าที่จำเลยที่ 1 นำมาเข้าพิกัดประเภทที่ 73.38 ข. ต้องเสียอากรร้อยละ 50 เมื่อคำนวณใหม่และหักที่ชำระไว้แล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องชำระอากรขาเข้าเพิ่ม 59,703.64 บาท ภาษีการค้าเพิ่ม 4,638.96 บาท และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม 463.90 บาท โจทก์ที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 รับหนังสือแล้วไม่ชำระภายในกำหนด 30 วัน จึงต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าอีกร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2518 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับของไปจนถึงวันฟ้อง แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ จึงเป็นเงินเพิ่มภาษีการค้า 4,638.96 เงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าเป็นเงิน 463.90 บาท รวมเป็นเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระ 69,909.36 บาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด แต่สอดเข้าไปจัดการงานของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มรวมเป็น 69,909.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดกิจการของจำเลยที่ 1 แต่กระทำโดยได้รับมอบหมายในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 1 แสดงรายการและเสียภาษีในพิกัดอัตราอากรโดยถูกต้องตามกฎหมาย สินค้าที่จำเลยสั่งและนำเข้าเป็นหีบใส่เงินซึ่งตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 จัดเป็นสินค้าประเภทที่ 83.03 ระบุไว้ชัดแจ้งว่า หีบใส่เงิน หีบเอกสารและสิ่งที่คล้ายกันทำด้วยโลหะสามัญ อัตราอากรร้อยละ 15 ไม่มีความหมายหรือคำจำกัดความว่าจะต้องเป็นหีบที่มีลักษณะมั่นคงแข็งแรงป้องกันไฟและโจรกรรมได้ดังโจทก์อ้าง เป็นการตีความนอกเหนือความหมายของถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้ว ความจริงหีบใส่เงินที่จำเลยสั่งเข้ามาก็มีลักษณะมั่นคงแข็งแรงมีกุญแจล็อกถึง 2 ดอก มีรหัสบังคับพร้อมทั้งกริ่งเตือนภัยกันขโมยได้ หาใช่เป็นเพียงเหล็กบางดังโจทก์อ้างไม่ การที่โจทก์เห็นว่าของที่จำเลยนำเข้ามาอยู่ในประเภทพิกัดที่ 73.38 ข. จึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่เพียงว่า สินค้าหีบใส่เงินพิพาทที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรจัดเป็นของในประเภทพิกัดที่ 83.03 ตามที่จำเลยสำแดงหรือจัดเป็นของในประเภทพิกัดที่ 73.38 ข. ตามคำฟ้องของโจทก์ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าตอนที่ 83 ประเภทพิกัดที่ 83.03 ระบุว่าตู้นิรภัยกำปั่น ห้องนิรภัย ที่หุ้มหรือเสริมให้มั่นคง ผนังด้านต่าง ๆ ที่ใช้บุห้องนิรภัยและประตูห้องนิรภัย หีบใส่เงินและหีบเก็บเอกสาร และสิ่งที่คล้ายกันทำด้วยโลหะสามัญ ซึ่งจะเห็นลักษณะของตามประเภทพิกัดที่ 83.03 ได้ว่า ล้วนแต่เป็นของที่มีลักษณะมั่นคงแข็งแรงทั้งสิ้น เช่น ตู้นิรภัย กำปั่น ห้องนิรภัย ที่หุ้มหรือเสริมให้มั่นคง ดังนั้น หีบใส่เงินที่จะจัดเข้าพิกัดประเภทนี้ได้ก็ต้องเป็นหีบใส่เงินที่มีลักษณะมั่นคงแข็งแรงขนาดใหญ่น้ำหนักมาก การขนย้ายเคลื่อนที่จะกระทำได้ยากลำบาก ทั้งจะต้องกันไฟ หรือกันโจรกรรมได้ด้วยได้ความจกคำเบิกความของนายประจวบ ธนกรวิทย์ สารวัตรศุลกากรระดับ 6 และนายกล่อม อัศรพันธ์ ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากร ว่าหีบใส่เงินที่จำเลยเข้าไม่มีลักษณะมั่นคงแข็งแรง และได้ความจากนายสุชัย พูนพานิชผล สารวัตรศุลกากรระดับ 7 เบิกความว่า ของที่จำเลยนำเข้ามามีลักษณะเป็นหีบสี่เหลี่ยมทำด้วยเหล็ก ไม่แข็งแรง ยาวประมาณไม่เกิน 1 ศอก กว้างประมาณ ไม่เกิน 1 ฟุต สูง 1 คืบเศษ เหล็กที่ใช้ทำหีบดังกล่าวบางไม่เหมือเหล็กที่ใช้ทำตู้เซฟโดยทั่วไป และภายในหีบไม่มีวัตถุกันไฟ เช่น วัตถุที่เรียกว่าแอสแบตตอส ดังนี้ เมื่อให้พิจารณาลักษณะของหีบใส่เงินที่จำเลยนำเข้าตามคำพยานโจทก์ทุกปากดังกล่าวประกอบกับภาพถ่ายของหีบใส่เงินตามภาพถ่ายหมาย ล.4 ถึง ล.6 และหีบใส่เงินหมาย ว.1 แล้วเห็นได้ว่า หีบใส่เงินที่จำเลยนำเข้ามีลักษณะไม่มั่นคงแข็งแรง ทั้งไม่อาจป้องกันไฟไม่อาจป้องกันการโจรกรรมได้เลยไม่เหมือนกับของต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในประเภทที่ 83.03 แต่จัดเป็นของใช้ในบ้านเรือนทำด้วยเหล็กตามประเภทพิกัดที่ 73.38 ข. เช่นเดียวกับที่กรมศุลกากรวินิจฉัยไว้แล้วตาม ว.อ. 89/2511 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าหีบใส่เงินที่จำเลยนำเข้าจัดเป็นของในประเภทพิกัดที่ 83.03 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมกันรับผิดในอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ตลอดจนเงินเพิ่มภาษีตามฟ้องส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้จะเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แต่ปรากฏจากใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.1 ว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในช่องผู้นำเข้าแทนจำเลยที่ 1 และระบุไว้ด้วยว่าเป็นผู้จัดการ ถือได้ว่า เป็นการสอดเข้าไปจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น แต่ที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากรและประมวลรัษฎากรบัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มของค่าอากรขาเข้าและของเงินภาษีที่ต้องชำระแต่มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามลำดับ ซึ่งเป็นทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างไว้โดยเฉพาะ และโจทก์ได้คำนวณเงินเพิ่มดังกล่าวจนครบถ้วนมาในฟ้องแล้ว จึงจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้อีกหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลย" พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามชำระเงินอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล พร้อมเงินเพิ่มรวมจำนวน 69,909.36 บาทให้แก่โจทก์" (ไพฑูรย์ เนติโพธิ์ ตัน เวทไว โสภณ จันเทรมะ) |