เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1739/2535

 

นายสมหวัง เสน่หา

โจทก์

นายสมยศ เรืองนิติวิทย์

จำเลย

เรื่อง คดีกู้ยืม

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องป.รัษฎากร ตราสารที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ (มาตรา 118) แพ่ง หลักฐานแห่งการ
กู้ยืม (มาตรา 653)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยได้ยืมเงินโจทก์ 130,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 2 เดือน ปรากฏตามสำนาภาพถ่ายเอสารท้ายฟ้องหมาย 1 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2522 จำเลยยืมเงินโจทก์อีก 50,000 บาท ดังปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 255,395.83 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 180,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาให้ฟ้องคดี จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมและไม่ใช่สัญญากู้ทั้งไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่มีสิทธินำมาใช้เป็นพยานหลักฐานเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 เป็นจดหมายของจำเลยและมีใบรับเงินด้านหลังด้วย โดยคิดว่า วันรุ่งขึ้นจะได้รับเงินตามจดหมายดังกล่าว แล้วฝากบุคคลภายนอกไป แต่จำเลยไม่ได้รับเงินและไม่ได้จดหมายคืน ส่วนเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 เป็นเรื่องการติดต่อของผู้อื่นในเรื่องเงินผ่านบัญชี มิใช่เป็นเรื่องของโจทก์จำเลย โจทก์ไม่เคยให้จำเลยยืมเงินจำนวนดังกล่าว เหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเนื่องจากโกรธที่ถูกภริยาจำเลยฟ้องเรื่องผิดสัญญา หากฟังว่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ก็เป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระ จะต้องบอกกล่าวทวงถามก่อน จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามก่อนฟ้องคดีโจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 180,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 130,000 บาท นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2522 และจากต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาที่ว่าเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อน เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะกล่าวอ้างเพียงว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2522 และต่อมายืมเงินโจทก์ครั้งที่สองอีกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2522 ก็ตามแต่โจทก์ก็ได้กล่าวอ้างถึงเอกสารที่จำเลยติดต่อขอยืมเงินจากโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2522 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522 โดยส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารมาพร้อมกับคำฟ้อง อันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำฟ้องในชั้นพิจารณา โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานโดยขอระบุพยานอันดับ 2 และ 3 ว่าหลักฐานการกู้ยืมเงินจำนวน 130,000 บาท ฉบับลงวันที่ 8 และ 9 กุมภาพันธ์ 2522 และหลักฐานการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท ฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2500 และลงวันที่ 1 มีนาคม 2522 และส่งอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เอกสารทั้งด้านหน้าและด้านหลังของแต่ละฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องเดียวต่อเนื่องกัน ถือได้ว่าเป็นเอกสารฉบับเดียวศาลจึงรับฟังข้อความพยานเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ที่ปรากฏอยู่ทั้งหมดในแต่ละฉบับนั้นได้ตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในข้อ 2 ได้กำหนดไว้ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 และ 2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือหรือไม่ซึ่งตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 และ 2 แต่ละฉบับก็มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จึงหาได้เป็นการที่โจทก์นำสืบนอกคำฟ้องและนอกประเด็นดังที่จำเลยฎีกาไม่ จำเลยเบิกความรับว่า เป็นผู้เขียนเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ทั้งด้านหน้าและด้านหลังส่งให้แก่โจทก์ข้อความตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มีใจความว่า จำเลยขอยืมเงินจากโจทก์ และรับว่าได้รับเงินยืมไว้เป็นการถูกต้องแล้วกับจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ ถือได้ว่าโจทก์มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ส่วนปัญหาที่ว่า เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจึงจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นจดหมายที่จำเลยมีถึงโจทก์และจำเลยได้บันทึกไว้เป็นด้านหลังของจดหมายแต่ละฉบับนั้นมา ว่า จำ จำเลยได้รับเงินจำนวนที่ขอยืมในแต่และฉบับนั้นไว้เป็นการถูกต้องแล้ว พร้อมกับลายมือชื่อวันเดือนปีไว้ด้วย เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้นหาใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในแต่ฉบับนั้นโดยตรง อันจะพึงต้องปิดอาสรแสตมป์ไม่ ศาลจึงรับฟังเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

(เกียรติ จาตนิลพันธุ์ - ไพฑูรย์ เนติโพธิ์ - โสภณ จันเทรมะ)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-01-2021