คำพิพากษาฎีกาที่392/2535 |
|
บริษัทยูนิเวอร์แซล (ประเทศไทย) จำกัด | โจทก์ |
นายศรีโพธิ์ อินจิ๋ว กับพวก | จำเลย |
เรื่อง สัญญาค้ำประกัน |
|
กฎหมายที่เกี่ยวข้องป.รัษฎากร ตราสารไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ (มาตรา 18) วิธีพิจารณาความแพ่ง | |
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายและเป็นผู้จัดการสาขาที่ร้านของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ได้ผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่โจทก์หรือหนี้สินที่เกิดขึ้นตามข้อกำหนดแห่งสัญญาจ้างในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ต่อมา จำเลยที่ 1 ทำสัญญายอมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ได้ผูกพันตนค้ำประกันจำเลยที่1 และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงผู้จัดการโจทก์ว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 4 จะช่วยชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 40,000บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสี่ แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 รวมกันชำระหนี้จำนวน157,091.66 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำนวน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะโจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างของโจทก์อยู่ โจทก์ชอบที่จะบอกกล่าวหรือบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้คิดบัญชีทรัพย์และหนี้สิน โจทก์ฟ้องคดีก่อนบอกกล่าวหรือเลิกสัญญาจ้างเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1โจทก์บังคับให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาจ้าง หนังสือรับรองท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม ผู้รับรองไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้อง หนังสือมอบอำนาจมิได้ปิดอากรตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์และขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 หากข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็พ้นความรับผิดตามสัญญาแล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมรับผิดชอบค้ำประกันชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 155,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 เพียงไม่เกิน 100,000 บาท และจำเลยที่ 4 เพียงไม่เกิน 40,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดต่อเมื่อเอาชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า " พิเคราะห์แล้ว ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 เพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเอกสารหมาย จ.2 มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามกฎหมายแม้ต่อมาเมื่อมีการสืบพยาน โจทก์จะส่งอ้างหนังสือมอบอำนาจที่ปิดแสตมป์ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจซึ่งขณะยื่นฟ้องไม่ถูกต้องอยู่แล้ว กลับมาถูกต้องในภายหลังได้ นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่มีกฎหมายบังคับว่าเป็นเอกสารที่จะต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 และตราสารที่ไม่ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ก็มีผลเพียงว่า จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจะมิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย... มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามเอกสาร หมาย จ.6 โดยโจทก์ไม่บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันทราบและได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญารับผิดผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในระหว่างเป็นลูกจ้างโจทก์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นผลโดยตรงจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2 เข้าผูกพันตนยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน100,000 บาท ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และตามสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ว่าหากจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์จะต้องบอกกล่าวหรือได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5..." พิพากษายืน (อุระ หวังอ้อมกลาง - เสริมพงศ์ วรยิ่งยง - เพ็ง เพ็งนิติ) |