เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่199/2535

 

นางนารีรัตน์ ศรีสุริยสวัสด

โจทก์

นางวิไลวรรณ สุคนธรักษ์

จำเลย

เรื่อง คดีกู้ยืม

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ (มาตรา 103,118) วิธีพิจารณา
ความแพ่ง อำนาจศาล ในการวินิจฉัยพยาน ผู้เชี่ยวชาญ (มาตรา 104,129) แพ่ง
กู้ยืมเงิน (มาตรา 653)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์ 3 ครั้งรวมเป็นเงิน 37,450 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่กู้ยืมเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยและต้นเงินให้โจทก์เลย โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยขอผัดผ่อนเรื่อยมาโจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 22,216.69 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 59,666.69 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 37,450 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องทั้งสามฉบับเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 59,666.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 37,450 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์รวม 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2525 เป็นเงิน 10,000 บาทครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นเงิน 20,000 บาท และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2527 เป็นเงิน 7,450 บาท ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 กับลายมือชื่อของจำเลยที่ลงไว้ในสมุดจ่ายเงินเดือน สมุดจ่ายเงินค่าครองชีพของข้าราชการโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา สมุดรายงานเงินคงเหลือประจำวัน (ในช่องผู้รับเงิน) ในช่วงปี 2525 ถึงปี 2527 และสมุดลงเวลามาปฏิบัติราชการครูโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา ตามเอกสารหมาย จ.8, จ.9, จ.25, จ.28 ถึง จ.32 แล้ว เห็นได้ด้วยตาเปล่าว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน และโจทก์มีนางสาวรัชดา ศรีสุริยสวัสดิ์ บุตรสาวโจทก์มาเบิกความสนับสนุนว่าก่อนที่จะมีการทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ประมาณ 2 ถึง 3 วัน จำเลยมาหาโจทก์ที่บ้านแต่ไม่พบโจทก์ จำเลยจึงขอกระดาษเปล่าจากพยานและเขียนจดหมายฝากพยานไว้ตามอกสารหมาย จ.10 ซึ่งมีข้อความบรรยายถึงความจำเป็นที่จำเลยจะต้องขอกู้ยืมเงินจากโจทก์อีก 20,000 บาท ไว้โดยละเอียด ศาลฎีกาได้ตรวจเปรียบเทียบลายมือเขียนในเอกสารหมาย จ.10 กับลายมือเขียนในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 แล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกัน น่าเชื่อว่าเป็นลายมือเขียนของคนคนเดียวกัน ตามทางนำสืบของโจทก์จำเลย ได้ความว่าโจทก์จำเลยเป็นครูอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน โจทก์มีโรงเรียนอนุบาลเป็นของตนเอง และมีฐานะดีกว่าจำเลย ไม่มีเหตุผลใดที่จะส่อแสดงว่าโจทก์จะปลอมสัญญากู้ขึ้นมาเองเพื่อฟ้องจำเลยด้วยเงินเพียงไม่กี่หมื่นบาท อันจะเป็นการเสี่ยงต่ออาญาบ้านเมืองและถูกไล่ออกจากราชการ ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นลายมือชื่อปลอม ลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยมีตัวอย่างดังเช่นเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.6 นั้น ปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นสำเนาเอกสารซึ่งถ่ายมาจากเอกสารหมาย จ.33 ถึง จ.35 จำเลยเป็นผู้เขียนและลงลายมือชื่อและเป็นผู้เก็บเอกสารดังกล่าวไว้ ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีรอยขูดลบลายมือชื่อออกแล้วลงลายมือชื่อใหม่ทุกแผ่น ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก รับฟังไม่ได้ ส่วนเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 นั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยที่ลงไว้ในเอกสารหมาย จ.30 และ จ.32 แต่ละวันคล้ายคลึงกัน คงมีลายมือชื่อที่ลงไว้ในเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ที่ผิดเพี้ยนไปไม่เหมือนกับวันอื่น อันเป็นการผิดปกติ เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย รูปคดีน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ให้จำเลยกู้ยืมเงินไปตามฟ้องโจทก์จริง ที่จำเลยฎีกาว่า นางสาวรัชดาเป็นบุตรสาวโจทก์จึงเบิกความเข้าข้างโจทก์ฝ่ายเดียวนั้น เห็นวาพยานโจทก์ปากนี้เบิกความเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.10 ตามที่พยานรู้เห็นเท่านั้นมิได้เบิกความว่ารู้เห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีพฤติการณ์ตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าพยานเบิกความเข้าข้างโจทก์แต่ประการใด ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า สัญญากู้ทั้งสามฉบับไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้จะได้ความว่าอากรแสตมป์ที่ปิดในสัญญากู้ทั้งสามฉบับไม่ได้ลงวัน เดือน ปี แต่สัญญากู้ทั้งสามฉบับได้ปิดอากรแสตมป์เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษเพื่อมิให้อากรแสตมป์ใช้ได้อีก เป็นการปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 103แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้..."

พิพากษายืน

(ประสิทธิ์ แสนศิริ - วิทวัส อยู่วัฒนา - ไพศาล รางชางกูร)

คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 199/2535

โจทก์ นายพิศาล วัฒนวิทูกูร

จำเลย นายอภิชาติ โรจนยางกูร

วิธีพิจารณาความแพ่ง ทิ้งฟ้อง (มาตรา 174(2))

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวของโจทก์เลขที่ 25/10 ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครและส่งมอบอาคารตึกแถวดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาคารตึกแถวดังกล่าวต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายฐานละเมิดแก่โจทก์เป็นเงิน 2,730 บาท และค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระเป็นเงิน 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 4,230 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 2,100 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารตึกแถวของโจทก์จนเสร็จสิ้นพร้อมส่งมอบอาคารตึกแถวที่เช่าคืนแก่โจทก์

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยมิได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้ครบถ้วน ภายในเวลาที่กำหนด จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย

จำเลยเห็นว่า จำเลยฎีกาในประเด็นข้อกฎหมาย สำหรับประเด็นค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น จำเลยไม่ติดใจ ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกานั้น จำเลยไม่ทราบว่าจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเงินเท่าใด และจำเลยมิได้จงใจไม่เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้ครบถ้วนหรือจงใจเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแต่ประการใด

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาโดยมิได้เสียค่าขึ้นศาลในอนาคต เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลให้ครบในกำหนด 7 วัน มิฉะนั้นจะสั่งไม่รับฎีกา จำเลยทราบคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2534 แต่ก็มิได้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มในกำหนด กลับยื่นคำแถลงขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถือว่าไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาที่ศาลกำหนดเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174(2) ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง"

(เพ็ง เพ็งนิติ - เจริญ นิลเอสงฆ์ - บุญธรรม อยู่พุก)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-01-2021